• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2568 โต 3.1% YoY โดยเร่งตัวจากการส่งออกก่อนภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จะมีผล ในขณะที่ภาคการผลิต การบริโภค และท่องเที่ยวชะลอลง ... เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในไตรมาส 2/2568 ...จากปัจจัยความไม่แน่นอนข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.4% ...อย่างไรก็ดี ประมาณการดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับผลการเจรจาทางการค้าของไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ เป็นสำคัญ รวมถึงมาตรการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้ประมาณการดังกล่าวมีแนวโน้มดีกว่าที่คาด
Home ตลาดการเงิน เผชิญ Trump’s Uncertainty แนะใช้กลยุทธ์ปิดความเสี่ยงหลากหลายมากขึ้น
ตลาดการเงิน เผชิญ Trump’s Uncertainty แนะใช้กลยุทธ์ปิดความเสี่ยงหลากหลายมากขึ้น

ตลาดการเงิน เผชิญ Trump’s Uncertainty แนะใช้กลยุทธ์ปิดความเสี่ยงหลากหลายมากขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.19 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.19 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.03-33.20 บาทต่อดอลลาร์) แม้จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยคลายกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างก็ย้ำจุดยืนสนับสนุนท่าทีไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะ Raphael Bostic (Atlanta Fed) ที่ให้ความเห็นว่า เฟดควรปรับลดดอกเบี้ยลงเพียง 1 ครั้ง ในปีนี้ จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถคุมเงินเฟ้อได้สำเร็จ ท่ามกลางแรงกดดันด้านสูงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อจากนโยบายการค้าของรัฐบาล Trump 2.0

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลต่อประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทว่า ความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า ได้กลับมาเป็นประเด็นที่กดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.13% โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส รวมถึงการบรรลุข้อตกลงทางการค้า การทหารและประเด็นอื่นๆ ระหว่างสหภาพยุโรป (EU) กับอังกฤษ ซึ่งเป็นการทยอยฟื้นความสัมพันธ์หลัง Brexit ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันบ้าง จากประเด็นความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ โดย Moody’s

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.46% หลังจากปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.50% ท่ามกลางความกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดย Moody’s โดยแรงซื้อ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า ประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลต่อประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง อนึ่ง เราคงคำแนะนำเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในระดับปัจจุบันถือว่ามีความน่าสนใจอยู่ และคงแนะนำว่า ควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวสหรัฐฯ ได้ (เน้น Buy on Dip) โดยเฉพาะในช่วงโซนสูงกว่า 4.50% หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นทดสอบโซนดังกล่าวอีกครั้ง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลต่อประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 100.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 100.0-100.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างสนับสนุนการไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย กอปรกับบรรยากาศในตลาดการเงินที่เริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย. 2025) ทยอยปรับตัวลง สู่ระดับ 3,222 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อทองคำ (Buy on Dip) ในจังหวะย่อตัว ทำให้การปรับตัวลงของราคาทองคำเป็นไปอย่างจำกัด

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปี 2025 และเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในปี 2026

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (Loan Prime Rate: LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี เพื่อช่วยประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ส่วนทางฝั่งออสเตรเลีย บรรดานักวิเคราะห์ ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจปรับลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.85% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจก็เผชิญแรงกดดันด้านต่ำจากผลกระทบของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ส่วนในช่วงราว 6.50 น. ของเช้าวันพุธที่ 21 พฤษภาคม ตามเวลาประเทศไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลการค้า (Exports & Imports) ของญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน ที่อาจเริ่มสะท้อนผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ

และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตามการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงพัฒนาการของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เรามองว่า แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับบรรดานักลงทุนต่างชาติ ขณะเดียวกัน เรายังคงเห็นแรงทยอยขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าแรงขายอาจมีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้าพอสมควร นอกจากนี้ ในส่วนของเงินดอลลาร์นั้น ก็อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลประเด็นสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทว่า ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่รีบร้อนปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการผลักดันร่าง Fiscal Bill จากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากพรรครีพับลิกัน โดยประเด็นดังกล่าวอาจมีความชัดเจนมากขึ้น ก่อนถึงวันหยุด Memorial Day ในวันที่ 26 พฤษภาคม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังเสี่ยงเผชิญ Two-Way Volatility ขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ก็จะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ได้ (ในทางกลับกัน หากราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อ ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง) โดยราคาทองคำอาจยังได้แรงหนุนบ้าง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงประเด็นเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ ที่อาจกลับมากดดันตลาดได้อีกครั้ง หลังรับรู้ความชัดเจนของ Fiscal Bill ล่าสุด

โดยรวมเราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจติดอยู่แถวโซนแนวรับหลัก 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังไม่สามารถอ่อนค่าลงชัดเจน จนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่าย โดยอาจมีโซนแนวต้านแรกแถว 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ก่อน จนกว่าจะเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน รวมถึงตลาดไร้ปัจจัยเสี่ยง พร้อมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวควรจะเห็นการปรับตัวลดลงต่อของราคาทองคำด้วยเช่นกัน

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.00-33.30 บาท/ดอลลาร์