สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติกองทุนต่างประเทศที่กองทุนรวมไทยสามารถลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกผู้ลงทุน รองรับพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลาย
ตามที่ ก.ล.ต. กำหนดหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวมไทยที่ประสงค์จะลงทุนในกองทุนต่างประเทศ โดยมีคุณสมบัติส่วนหนึ่งให้กองทุนต่างประเทศดังกล่าว ต้องเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme: CIS)* ที่ผู้จัดการกองทุน (CIS operator) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกสามัญขององค์กร ก.ล.ต. นานาชาติ (International Organization of Securities Commissions: IOSCO) เพื่อให้มั่นใจว่า หากมีความจำเป็น ก.ล.ต. จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลกองทุนต่างประเทศนั้นกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศได้ภายใต้ IOSCO MMoU ซึ่งเป็นข้อตกลงในระดับพหุภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย
ด้วยโครงสร้างและลักษณะการกำกับดูแลของกองทุน CIS ต่างประเทศที่มีความหลากหลาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม 2568 จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติม CIS ต่างประเทศที่กองทุนรวมไทยสามารถลงทุนได้ และให้รวมถึงกองทุน CIS ต่างประเทศในรูปแบบอื่นด้วย เช่น กองทุน Commodity-based Trust เป็นต้น** โดยเป็นกองทุน CIS ต่างประเทศซึ่งมีลักษณะ ดังนี้ (1) การออกและการเสนอขายอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานต่างประเทศที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO และ (2) เป็นหน่วยของกองทุน CIS ต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนของกองทุนรวมไทย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลได้ตามความจำเป็น โดยกองทุน CIS ต่างประเทศดังกล่าวยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ*** (ยกเว้นเกณฑ์คุณสมบัติของ CIS operator ข้างต้น) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวข้องตามหลักการข้างต้น และได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=1068 หรือทางอีเมล tonyada@sec.or.th หรือ pattarav@sec.or.th จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2568
หมายเหตุ :
* กองทุน CIS ต่างประเทศ หมายถึง กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme) ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปแบบอื่นใด แต่ไม่รวมถึงกองทุน property กองทุน infra กองทุน private equity ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
** กองทุน CIS ต่างประเทศที่มีโครงสร้างการจัดการที่แตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป เช่น กองสินค้าโภคภัณฑ์ต่างประเทศที่มุ่งเน้นลงทุนในโลหะมีค่า ซึ่งจัดตั้งในรูปแบบทรัสต์ (commodity-based trust) ซึ่งผู้บริหารจัดการกองทรัสต์อาจมิใช่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) (CIS operator) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO
*** เช่น กองทุน CIS ต่างประเทศต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การกำกับดูแล การออก และเสนอขาย และการจัดการสำหรับกองทุนเพื่อผู้ลงทุนรายย่อยของประเทศนั้น ประเทศที่กำกับดูแลการเสนอขายหน่วยดังกล่าวมีมาตรการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอตามรายชื่อประเทศที่สำนักงานกำหนด เว้นแต่เป็น ETF ต่างประเทศที่มีการบริหารจัดการในลักษณะ passive management เป็นต้น