• SCB EIC เผยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7% ทำให้ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ที่ 5.3% --- ปัจจัยการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 2024 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย
Home รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ประจำเดือนมีนาคม 2567
รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ประจำเดือนมีนาคม 2567

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ประจำเดือนมีนาคม 2567

บทสรุปผู้บริหาร

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงและเข้าสู่สภาวะ Soft-landing ท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า แต่อัตราการขยายตัวคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี แต่คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังอ่อนแอ

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงและเข้าสู่สภาวะ Soft-landing ท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยยอดค้าปลีกใน 2 เดือนแรกของปีนี้ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.-มี.ค. 2567 ค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับเดิม (รูปที่ 1) สะท้อนว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ เริ่มมีโมเมนตัมแผ่วลง นอกจากนี้ ตลาดแรงงานเริ่มชะลอตัวลงและกลับเข้าสู่จุดสมดุลมากขึ้น โดยอัตราการว่างงานเดือนก.พ. 2567 เร่งขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ 3.9% อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ นอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ยังคงสะท้อนภาพที่ค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่

 

ทั้งนี้ จากการประชุม FOMC ในเดือนมี.ค.2567 เฟดมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% และยังคงส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้ผ่านคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot Plot) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดอาจเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ เฟดมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2567-2569 ดีขึ้นกว่าประมาณการในการประชุมเดือนธ.ค. 2566 สะท้อนมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ Soft-landing ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวได้ที่ราว 2% ในปีนี้

 

เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า แต่อัตราการขยายตัวคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.0% ในปีนี้ ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงมีแนวโน้มอ่อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ท่ามกลางต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการระบายสินค้าคงคลังที่มีอย่างเนื่องซึ่งส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตของยูโรโซนยังอ่อนแอ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (S&P Manufacturing PMI) เดือนมี.ค.2567 อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนภาพชะลอตัว เป็นเวลา 21 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ดี ภาคบริการคาดว่าจะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในระยะข้างหน้า โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเดือนมี.ค. 2567 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน  (รูปที่ 2)

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแรงและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง หลังตัวเลขเงินเฟ้อยูโรโซนปรับลดลงเร็วและเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มากขึ้น ส่งผลให้คาดว่า อีซีบี จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะเริ่มในการประชุมเดือนมิ.ย. 2567

 

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี จาก -0.1% มาอยู่ที่ 0-0.1% พร้อมยุติมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve control) ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี 2567 ที่ 5.28% สูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาปรับทิศอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานญี่ปุ่นอยู่เหนือกรอบเป้าหมายมานานกว่า 1 ปี (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของธนาคารกลางญี่ปุ่น สะท้อนว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่ และจะไม่ได้ปรับทิศนโยบายการเงินมาเป็นแบบตึงตัวดังเช่นในสหรัฐฯ และยุโรป โดยตลาดมองความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นอาจอยู่ที่ระดับ 0.1% ณ สิ้นปี 2567 โดยส่งผลให้เงินเยนยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่า

 

ทั้งนี้ การปรับทิศนโยบายการเงินของญี่ปุ่นรอบนี้เป็นการส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ และเป็นจุดตั้งต้นให้การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเดินหน้าอย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องมีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมาก (Ultra-loose monetary policy) คอยประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน อาทิ ทั้งประชากรสูงวัย การต่อยอดอุตสาหกรรมในเทคโนโลยีในอนาคต

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.8% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

   

เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชะลอลง (รูปที่ 4) โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาล ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยการใช้จ่ายสินค้าทนโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มยานยนต์ปรับลดลง สะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตไทยยังคงซบเซา โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายตัวชะลอลงในเดือนนี้ ท่ามกลางอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังต่ำกว่า 60 และการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ -0.77%YoY  โดยยังเป็นผลของราคาอาหารสดและราคากลุ่มพลังงานที่ลดลงจากการอุดหนุนราคาจากภาครัฐ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.43%YoY ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณอ่อนแอ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 เป็นต้นไปและเฉลี่ยทั้งปี 2567 อยู่ที่ 0.8% จากการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยปรับลดลง โดยแม้ว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 คาดว่าจะถูกคงไว้ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ 4.18 บาท/หน่วย แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าท่ามกลางภาระหนี้กฟผ. ที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ แนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอาจทยอยปรับเพิ่มขึ้น หลังมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค. 67 ท่ามกลางฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่คาดว่าอาจติดลบถึง 1 แสนล้านบาทอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2567

 

การส่งออกไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันที่ 3.6%YoY โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมอย่างข้าวที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น นำโดยคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ นอกจากนี้ การส่งออกทองคำเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการส่งออกในเดือนนี้ โดยเมื่อหักทองคำการส่งออกไทยในเดือนดังกล่าวจะขยายตัวเพียง 1.2%YoY อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ แต่การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นกลับหดตัวในเดือนนี้ จากการเร่งส่งออกเพื่อให้ทันการใช้จ่ายในช่วงตรุษจีนก่อนหน้านี้ และภาคการผลิตของทั้งสองประเทศที่ยังซบเซา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการการส่งออกไทยในปี 2567 จะกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ 2.0% สอดคล้องกับ

ทิศทางการค้าโลก และความต้องการในหลายสินค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนก.พ.67 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3.35 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 93% (รูปที่ 5) ของจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนเดียวกันของปี 2562 (ก่อนโควิด-19) เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยปี 2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 36 ล้านคน หรือเทียบเท่า 90% ของระดับก่อนโควิด-19 จากหลายปัจจัยสนับสนุนที่ดีขึ้น อาทิ มาตรการวีซ่าฟรีชั่วคราวและถาวร ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยหนุนหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

ความล่าช้าของการอนุมัติรายจ่ายประจำปี 2567 กระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ถึงแม้ว่าจะมีการเร่งกระบวนการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณให้เร็วขึ้น โดยอาจเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณได้ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2567 นอกจากนี้ โครงการแจกเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังรัฐบาลส่งสัญญาณเดินหน้าโครงการต่อ โดยอาจพิจารณาทางเลือกเพิ่มเติมเกี่ยวกับแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ นอกเหนือจากการกู้เงินภายใต้ พ.ร.บ. อาทิ การใช้เงินภายใต้กรอบงบประมาณปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เม็ดเงินที่จะนำมาใช้กระตุ้นมีขนาดลดลง ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในไตรมาสที่ 4/2567 ซึ่งคงจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้ไม่มากนัก อย่างไรก็ดี รายละเอียดต่าง ๆ ยังคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมในเดือนเมษายน 2567 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.8% โดยยังคงมองว่าเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้คงมีจำกัด