• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ สถานการณ์เงินบาทเริ่มพลิกผันกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 จนทะลุแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2567 หลังประธานเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย *** ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าและสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งเพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่ง *** เตือนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ที่มีรายรับ-รายจ่ายในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
Home หนีให้ไว ระวังภัยจาก '5 เว่อ' เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน
หนีให้ไว ระวังภัยจาก '5 เว่อ' เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน

หนีให้ไว ระวังภัยจาก '5 เว่อ' เช็กให้ชัวร์ก่อนลงทุน

หวังรวยเร็วรวยไว เหยื่อรายต่อไปอาจเป็นคุณ! จากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมาส่งผลให้หลายคนขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้มิจฉาชีพฉวยวิกฤตนี้เป็นโอกาสในการหลอกลวงคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาทางการเงินด้วยการล่อลวงให้เหยื่อนำเงินมาลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูง และน่าดึงดูดในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลอกให้ร่วมลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ของบริษัท และอ้างอิงสินทรัพย์ดิจิทัล เหรียญโทเคนต่าง ๆ ซึ่งเหล่ามิจฉาชีพมักมีกลเม็ดล่อหลอกให้เหยื่อเกิดความเคลิ้ม หลงเชื่อว่าจะได้เงินจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว และตัดสินใจลงทุนโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีพอ ยิ่งไปกว่านั้นคือการเชื่อใจบุคคลใกล้ชิดที่ชักชวนต่อ ๆ กันมา และการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลในหน่วยงานของรัฐ จนในที่สุดก็เกิดความเสียหายดังที่ปรากฏให้เห็นในข่าวอยู่บ่อยครั้ง มีหลายคนต้องสูญเงินค่าเล่าเรียนลูกหรือเงินที่เตรียมไว้ใช้ตอนเกษียณให้กับพวกมิจฉาชีพ

จากข่าวการถูกหลอกให้ลงทุน เราจะสังเกตเห็นได้ว่ามิจฉาชีพมักใช้กลโกงด้วยวิธีการที่คล้ายกัน ดังนั้น เราควรรู้ให้เท่าทันกลโกงต่าง ๆ ที่มิจฉาชีพชอบใช้ ซึ่งสามารถสังเกตกลโกงเหล่านั้นได้ง่าย ๆ เพียงแค่จำสัญญาณเตือนภัย “5 เว่อ” ต่อไปนี้

1. สูงเว่อ มิจฉาชีพจะใช้วิธีล่อลวงโดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงผิดปกติ เช่น ได้ผลตอบแทนร้อยละ 20 ต่อเดือน โดยที่ไม่ต้องทำอะไร แค่รอรับผลกำไรจากเงินลงทุน และมักจะอ้างว่าให้ดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และยิ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง ก็ต้องยิ่งมีความเสี่ยงสูงตาม

2. ไวเว่อ กลโกงการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้ล่อลวงคือการอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนภายในเวลาอันรวดเร็ว ระยะเวลาอันสั้น จึงเป็นกลโกงสำคัญที่กระตุ้นให้เหยื่อตัดสินใจลงทุนอย่างรวดเร็ว เช่น ได้ผลตอบแทนสูงภายในเวลา 3-4 สัปดาห์ หรือเร็วถึงขั้นได้ผลตอบแทนเป็นรายวัน

3. ชัวร์เว่อ มิจฉาชีพกล้าการันตีว่าได้ผลตอบแทนสูงอย่างแน่นอน ลงทุนมีแต่ได้กับได้ ไม่มีการขาดทุนแน่นอน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีการลงทุนไหนที่การันตีได้ว่าจะได้ผลตอบแทนอย่างแน่นอน

4. เร่งเว่อ มิจฉาชีพมักล่อลวงให้เหยื่อตัดสินใจลงทุนอย่างรวดเร็ว โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะในช่วงเวลานั้น เช่น ภายในเดือนนี้เท่านั้น เหลือจำนวนไม่มากแล้ว หรือเหลือเวลาไม่มากแล้ว เพื่อลดโอกาสในการไตร่ตรองให้เรารีบตัดสินใจ

5. ลอยเว่อ มิจฉาชีพมักอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีตัวตนจริง และไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น ธุรกิจนำเข้าส่งออก ชักชวนลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น

จากสัญญาณเตือนภัย 5 เว่อข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นกลโกงที่ใช้เพื่อให้ผู้คนเกิดความหลงเชื่อ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนควรศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนและมีสติก่อนตัดสินใจ เพราะการลงทุนทุกอย่างมาพร้อมกับความเสี่ยงและไม่สามารถการันตีผลตอบแทนที่แน่นอนได้ และควรตื่นตัวพร้อมติดตามข่าวสารที่เกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุนต่าง ๆ อยู่เสมอ เพราะอาจจะมีวิธีหลอกลวงใหม่ ๆ เกิดขึ้น และควรตระหนักไว้เสมอว่า “ความสำเร็จไม่มีทางลัด”

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้จาก ก.ล.ต. ซึ่งได้จัดทำเว็บไซต์แหล่งรวมความรู้เตือนภัยกลโกงหลอกลวงลงทุน เพื่อให้เท่าทันภัยกลโกงการลงทุนที่พบบ่อย เช่น กลโกงแชร์ลูกโซ่ กลโกง Romance Scam กลโกงแอบอ้างหน่วยงาน โดยเรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลาย ทั้งบทความ คลิป วิดีโอ รวมถึงอินโฟกราฟิก ที่ครบครันและเข้าใจง่าย สามารถคลิกเข้าชมข้อมูลได้ที่ SCAM CENTER รู้ทันภัยกลโกงลงทุน www.sec.or.th/TH/Pages/ScamCenter.aspx

ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือถูกชักชวนว่าเป็นการระดมทุนหรืออ้างผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เช่น หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวม สินทรัพย์ดิจิทัล สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ผลิตภัณฑ์ และบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้ที่ SEC Check First ทั้งทางแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ www.sec.or.th และสามารถเช็กรายชื่อบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ investor alert ลิงก์ https://market.sec.or.th/public/idisc/th/InvestorAlert  รวมทั้งสามารถแจ้งเบาะแสมาที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207 หรือ อีเมล complaint@sec.or.th หรือ SEC Live Chat www.sec.or.th หรืออินบ็อกซ์ที่เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” ลิงก์ www.facebook.com/sec.or.th 

โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์