• ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2566 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และปี 2567 จาก 3.6% เป็น 3.2% ตามลำดับ หลังแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศมีความเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะโมเมนตัมส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอ่อนแอ เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่แผ่วลงกว่าคาด *** ด้าน SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 3.1% (เดิม 3.9%) จากข้อมูลจริงไตรมาส 2 ที่ต่ำกว่าคาดมากและการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีตามประมาณการ 30 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางที่เร่งตัวและเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายใหม่ ส่งผลให้ภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องช่วยลดความเปราะบางในตลาดแรงงาน สำหรับมุมมองปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งขึ้นที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน
Home ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ศึกษาประวัติศาสตร์
ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ศึกษาประวัติศาสตร์

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ศึกษาประวัติศาสตร์

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ศึกษาประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 33 พาครูอาจารย์และผู้บริหารที่สนใจ ลงพื้นที่ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ณ โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย บริเวณทุ่งมะขามหย่อง พระนครศรีอยุธยา สถานที่ประวัติศาสตร์แผ่นดินแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงนำพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ตามแนวพระราชดำริ ด้านการเกษตรกรรม สร้างเป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำที่ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงรวมถึงกรุงเทพมหานคร ได้บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม และช่วยเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างรายได้ตลอดจนการแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม นับได้ว่าประเทศไทยสามารถเรียนรู้และรับมือกับความแปรปรวนของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยพสกนิกร ทรงวางรากฐานการจัดการทรัพยากรไว้ได้อย่างรอบคอบ

 



นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมและศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณวัตถุ ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เมื่อปี พ.ศ.2500 และมีพระราชปรารถให้จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ที่มีการวางแผนการจัดแสดงอย่างเป็นระบบ เพื่อการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่สังคมและวัฒนธรรมประเพณีที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่น่าภาคภูมิใจเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยและบรรพชนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโบราณวัตถุที่แสดงอยู่นี้เป็นสิ่งล้ำค่ามากมายจากอดีตที่เคยอยู่ในกรุวัดราชบูรณะและจากโบราณสถานใกล้เคียงในพระนครศรีอยูธยา ได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การสร้างการตระหนักรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันปกป้องเพื่อให้โลกนี้ปลอดภัยและน่าอยู่ รวมทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นการสืบสานรักษามรดกของประเทศ ทิพยประกันภัย คำนึงถึงการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเสาหลัก ESG สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การได้มาเรียนรู้โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ช่วยให้เราทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างการตระหนักรู้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่งผลบวกให้กับผู้มีส่วนได้เสียรวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถพัฒนาได้ดีขึ้นทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ต่อไปในอนาคต”

นับเป็นครั้งแรกของโครงการฯ ที่ทำพิธีเปิด ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา โดยได้รับเกียรติจาก นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (ผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม) เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมร่วมปล่อยปลาบึกจำนวน 303 กิโลกรัม ไถ่ชีวิตเป็นมหาทานครั้งที่ 311 มอบเสื้อกีฬาจำนวน 100 ตัว และทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน นอกจากนี้ยังได้ทำการมอบชุดหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ให้กับโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการในจังหวัดใกล้เคียง

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “กิจกรรมในครั้งนี้ มีความสำคัญทั้งในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรมสังคม การจัดการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และความสำคัญด้านพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดราชบูรณะ วัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เป็นการน้อมรำลึกด้วยความกตัญญูถึงคุณูปการของบรรพชนไทยในสมัยอยุธยาที่ร่วมกันดูแลรักษาพื้นแผ่นดินไทย ให้คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน”

นอกจากนี้ คณะครูอาจารย์ยังได้ทำกิจกรรม Workshop การถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และการบรรยายถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี การบรรยายเรื่องคุณธรรมในยุคดิจิทัล

 


โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นับว่าเป็นการได้เรียนรู้ พัฒนา และบูรณาการความรู้ครบทุกมิติ ทั้งด้านตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ครูอาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านการอบรมจากโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป โดยกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 34 จะเดินตามรอย ณ พิพิธภัณฑการเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี ในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2566 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey LINE : The King’s Journey