• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ สถานการณ์เงินบาทเริ่มพลิกผันกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 จนทะลุแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2567 หลังประธานเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย *** ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าและสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งเพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่ง *** เตือนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ที่มีรายรับ-รายจ่ายในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
Home เชฟรอน-SPRC จับมือ ทช. และ จ.ระยอง เปิดโครงการ'เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย'
เชฟรอน-SPRC จับมือ ทช. และ จ.ระยอง เปิดโครงการ'เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย'

เชฟรอน-SPRC จับมือ ทช. และ จ.ระยอง เปิดโครงการ'เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย'

เชฟรอน และ SPRC จับมือ ทช. และจังหวัดระยอง เปิดโครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย”  มุ่งพัฒนาป่าชายเลนเมืองระยอง พร้อมขับเคลื่อนการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต 

 

 

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) สานต่อภารกิจเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังเปิดโครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” (Foster Future Forests) ผ่านความร่วมมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจังหวัดระยอง ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงชุมชนในจังหวัดระยอง มุ่งฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ 100 ไร่ ซึ่งยังไม่ได้รับการพัฒนาในบริเวณป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์  หวังส่งเสริมความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดระยองผ่านแนวทางแก้ปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน พร้อมต่อยอดองค์ความรู้สู่พื้นที่ต้นแบบของการฟื้นฟูระบบนิเวศในอนาคต

 

 

 

ป่าชายเลน ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยจากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งระบุว่า พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทยสามารถดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละกว่า 9.4 ตันต่อไร่  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดระยองมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นโครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” จึงถือเป็นก้าวสำคัญของการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนของจังหวัดระยอง โดยมีแผนดำเนินการในระยะยาว 10 ปี พร้อมแบ่งกิจกรรมออกเป็น 5 ส่วน ตั้งแต่ออกแบบแผนฟื้นฟูป่าในเมืองตามหลักวิทยาศาสตร์ (Science Base Target) การสร้างองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชน การจัดทำแผนติดตามและประเมินผล ศึกษาผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงยกระดับการรับรู้ในวงกว้าง พร้อมปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้ชุมชน พนักงานของทั้ง 3 บริษัท ไปจนถึงสังคมโดยรอบ

 

โครงการฯ มุ่งสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน ทั้งการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน เสริมความแข็งแกร่งและสนับสนุนทางด้านอาชีพให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น พร้อมผสานการใช้เทคโนโลยี เช่น การใช้โดรน เพื่อวัดผลสำเร็จอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ โดยภายในงาน ได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้ชมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมบูรณาการทางด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) กับสิ่งแวดล้อม กับโครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment Program) ขององค์การ NASA (The National Aeronautics and Space Administration) พร้อมจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่ สะท้อนการสร้างความยั่งยืนของโครงการผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งและเทคโนโลยีล้ำสมัย

 

 

ด้าน มร. โรเบิร์ต โจเซฟ โดบริค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า “ในฐานะบริษัทที่ดำเนินกิจการในพื้นที่จังหวัดระยอง เรามุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอยู่เสมอ ดังนั้นในทุกกระบวนการดำเนินงานของโครงการฯ บริษัทฯ จึงทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดระยอง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระยอง สำนักงานประมงจังหวัดระยอง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานระยอง รวมถึงหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ พร้อมวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นป่าในเมืองสำหรับคนระยอง พร้อมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนและยังจะมีการทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าชายเลนเข้าไปในหลักสูตร ไปจนถึงเสริมทักษะอาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อต่อยอดความยั่งยืนในระยะยาว”

 

 

 

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  กล่าวว่า “ทุกโครงการเพื่อสังคมของเชฟรอน เราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ผ่านการสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และชุมชน โดยจุดเด่นของโครงการฯ นี้ คือการทำการศึกษา วิจัย และออกแบบเพื่อการสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนที่เหมาะกับสภาพทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศวิทยาของระยอง และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในหลากหลายด้าน โดยเรามีเครือข่ายด้านวิชาการที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่สมาคมส่งเสริมพัฒนากำลังคนสเต็มเพื่ออนาคต (IAFSW) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อวางแผนดำเนินการที่เหมาะสมกับป่าชายเลนแห่งนี้ พร้อมติดตามและประเมินผลด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงคำนวณปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชดเชยจากโครงการฯ โดยเราหวังว่าพลังคนจากทุกภาคส่วน จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้โครงการเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการสร้างพื้นที่ป่าในเมืองได้สำเร็จ”

 

 

 

มร. ชาแชงค์ นานาวาติ ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า       “การสร้างโอกาสเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการลดคาร์บอน มีความสำคัญอย่างมากสำหรับบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คาลเท็กซ์ในประเทศไทย บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นพัฒนาสุขภาวะของสังคมและดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อ ลื่นภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” ตลอดระยะเวลากว่า 75 ปี ในประเทศไทย ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ผนึกกำลังขับเคลื่อนการลดคาร์บอนและเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการปลูกป่าชายเลนเพิ่มพื้นที่สีเขียวและรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า ความสำเร็จของโครงการครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากการร่วมมือรวมพลังอย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วน ทั้งภาคีภาครัฐ ชุมชน รวมถึงการผนึกความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งจากทั้ง 3 บริษัท โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพนักงานทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และอาสาสมัครร่วมโครงการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และกระชับความสัมพันธ์ของพนักงานทั้ง 3 องค์กร”

 

นายกำธร เวหน ปลัดจังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผมในฐานะตัวแทนประชาชนจังหวัดระยองทุกท่านรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทด้านพลังงานอย่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด และ SPRC ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ของเรา โดยป่าชายเลน ถือเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของจังหวัดระยอง ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก รวมถึงเป็นแนวป้องกันชายฝั่งจากการกัดเซาะและกำบังคลื่นพายุได้เป็นอย่างดี โดยผมเชื่อมั่นว่า โครงการฯ ดังกล่าวจะสามารถสร้างประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นคืนระบบนิเวศป่าชายเลนในพื้นที่ และมอบประโยชน์โดยอ้อมผ่านการสร้างอาชีพ และปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้กับชุมชนของเราได้อย่างมั่นคง”

 

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “เป้าหมายของกรมฯ ในการฟื้นฟูป่าชายเลน 300,000 ไร่ ในพื้นที่ 23 จังหวัด ภายใน 10 ปี ระหว่างปี 2565 - 2574  เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตนั้น จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และเอกชน โดยโครงการ ‘เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย’ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างการบูรณาการและการสานความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยผมหวังว่าโครงการฯ จะช่วยสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศวิทยา และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างรายได้และประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพตามวิถีชุมชนในเขตป่าชายเลนได้ต่อไป”

โครงการ “เติมพลังรักษ์ยั่งยืน สู่ผืนป่าไทย” ถือเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด และ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฟื้นคืน “ป่าในเมือง” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน โดยการดำเนินโครงการฯ นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ในก้าวถัดไปของการเก็บเกี่ยวองค์ความรู้และแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศที่จะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ สู่ต้นแบบพื้นที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศไทยต่อไปในอนาคต