• SCB EIC เผยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7% ทำให้ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ที่ 5.3% --- ปัจจัยการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 2024 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย
Home 'กัลเดอร์มา'-หน่วยงานภาครัฐ-พันธมิตรคลินิก ต่อต้านสินค้าหัตถการปลอม
'กัลเดอร์มา'-หน่วยงานภาครัฐ-พันธมิตรคลินิก ต่อต้านสินค้าหัตถการปลอม

'กัลเดอร์มา'-หน่วยงานภาครัฐ-พันธมิตรคลินิก ต่อต้านสินค้าหัตถการปลอม

กรุงเทพฯ – ‘กัลเดอร์มา’ (Galderma) ผู้นำนวัตกรรมด้านความงามที่ใหญ่ที่สุดของโลก เดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตรคลินิก และผู้บริโภค ต่อต้านและรับมือผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอมระบาด ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้และกระตุ้นการมีส่วนร่วม ล่าสุด ร่วมงาน Authentication of Counterfeit Products Training 2024 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจเช็กผลิตภัณฑ์ของแท้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เพื่อเสริมศักยภาพในการปราบปรามสินค้าปลอม พร้อมลุยสร้างการรับรู้ภายใต้กิจกรรม #เช็กก่อนฉีด รณรงค์ให้พันธมิตรคลินิกและผู้บริโภครู้เท่าทัน ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม

 


ภก. พิรพัฒน์ ศรีวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการธุรกิจความงามประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันตลาดเวชศาสตร์ความงามเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ฉวยโอกาสผลิตและลักลอบนำเข้าสินค้าเสริมความงามละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือสินค้าปลอมเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มสารเติมเต็ม (ฟิลเลอร์) และสารกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน (PLLA) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในไทย ซึ่งกัลเดอร์มาเล็งเห็นถึงผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงความเสียหายต่อแบรนด์และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ บริษัทฯ จึงเดินหน้าสนับสนุนและจัดกิจกรรมเพื่อรับมือสินค้าปลอมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เช่น จัดสัมมนาวิชาการทางการแพทย์แนะแนวทางการรักษาคนไข้ที่ประสบปัญหาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ปลอม, ยกระดับความปลอดภัยให้ผู้บริโภคด้วยการนำแบรนด์เข้าร่วมแอปตรวจสอบผลิตภัณฑ์แท้ eZTracker และจัดกิจกรรม #เช็กก่อนฉีด รณรงค์ให้คลินิกและผู้บริโภคเช็กผลิตภัณฑ์ก่อนทำหัตถการทุกครั้ง”

ล่าสุด ร่วมแชร์ความรู้ในงานอบรมวิธีการตรวจสอบและแยกแยะสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า Authentication of Counterfeit Products Training 2024 ที่จัดโดยสำนักงานกฎหมายและทนายความ RWT International Law Office ซึ่งการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นและการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Integrated Dermatology Strategy (IDS) ที่ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพความงามที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค ควบคู่กับการส่งเสริมความรู้รอบด้านให้กับพันธมิตรคลินิกและหน่วยงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมความงาม

ข้อมูลจากงาน Authentication of Counterfeit Products Training 2024 ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เรื่องสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยที่ผ่านมา กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมสอบสวนคดีพิเศษ, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เร่งดำเนินการปราบปรามผลิตภัณฑ์ปลอมอย่างจริงจัง พร้อมผนึกความร่วมมือกับภาคเอกชน สร้างการตระหนักรู้และป้องกันผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าปลอม ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีสินค้าปลอมและไม่ได้มาตรฐานวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ทั้งยังหาซื้อได้ง่ายตามช่องทางอี-คอมเมิร์ซต่างๆ

ภก. พิรพัฒน์ กล่าวถึงเคสปัญหาที่พบว่า “ในปีที่ผ่านมาและปีนี้ ทางบริษัทฯ ได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคให้เข้าไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์สารเติมเต็ม แบรนด์ Restylane และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาผิวหนังที่เสื่อมสภาพตามวัย แบรนด์ Sculptra ของคลินิกเสริมความงามบางแห่ง เนื่องจากมีผู้บริโภคเข้ารับบริการแล้วเกิดความเสียหายกับใบหน้า โดยจากการตรวจสอบพบว่า คลินิกบางแห่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศแต่เป็นประเทศที่กัลเดอร์มาไม่มีฐานการผลิต คลินิกบางแห่งนำสินค้าปลอมมาให้บริการปะปนกับสินค้าแท้ เป็นต้น ซึ่งผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งยังลดทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ บริษัทฯ จึงขอเป็นอีกหนึ่งพลังที่ออกมาปกป้องและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค”

นอกจากนี้ กัลเดอร์มา ยังแนะนำวิธีการตรวจสอบและแยกแยะผลิตภัณฑ์เสริมความงามแบรนด์ Restylane และ Sculptra โดยผู้มีหน้าที่ตรวจสอบและผู้บริโภคสามารถสังเกตได้ ดังนี้

บรรจุภัณฑ์ภายนอก (กล่อง): มีเลขทะเบียนและ อย. จดแจ้งชัดเจน, มี QR Code สำหรับตรวจสอบผลิตภัณฑ์แท้โดยใช้แอปพลิเคชัน eZTracker, มีฉลากภาษาไทยกำกับ, ต้องระบุรายละเอียดเลขล็อตสินค้า, วันผลิตและวันหมดอายุสินค้า, ข้อมูลเกี่ยวกับสารหัตถการ ที่สำคัญต้องระบุว่านำเข้าโดย บริษัท กัลเดอร์มา (ประเทศไทย) จำกัด เท่านั้น

ภายในบรรจุภัณฑ์: ต้องมีเอกสารกำกับภาษาไทย

- สำหรับผลิตภัณฑ์ Restylane จะต้องมาในรูปแบบไซริงค์พร้อมฉีดอยู่ในแพ็กเกจแบบ Sterile ไม่มีร่องรอยการเปิดใช้งานมาก่อน และจะต้องมีเลขล็อตระบุ

- สำหรับผลิตภัณฑ์ Sculptra ผลิตภัณฑ์ต้องเป็นขวดแก้วสุญญากาศและภายในกล่องจะมี 1 ขวดต่อกล่อง และจะต้องมีเลขล็อตระบุ

“ทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอมหาซื้อได้ง่ายและมีราคาต่ำ อีกทั้งยังมีการลอกเลียนแบบทุกรายละเอียดทำให้ตรวจสอบได้ยาก บริษัทฯ จึงขอรณรงค์ให้ผู้บริโภคและคลินิกเสริมความงาม #เช็กก่อนฉีด และสแกน QR Code ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ผ่านแอปพลิเคชัน eZTracker เพราะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีระบบการบันทึกข้อมูลที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง ซึ่งกัลเดอร์มาเป็นแบรนด์เสริมความงามรายเดียวในประเทศไทยที่เข้าร่วมแอปนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จะเดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรคลินิกในการปราบปรามหัตถการปลอมอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้บริโภค สร้างความเชื่อมั่นให้กับคลินิกและอุตสาหกรรมเสริมความงามของไทยให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” ภก. พิรพัฒน์ กล่าวปิดท้าย