• ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย ปี 2565 บริษัทจดทะเบียน หรือ บจ. จำนวน 798 บริษัท คิดเป็น 98.6% จากทั้งหมด 809 บริษัท (รวม SET และ mai และไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บจ. ในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปี 2565 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 619 บริษัท คิดเป็น 77.6% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด *** ส่วนบริษัทจดทะเบียนใน mai จำนวน 196 บริษัท คิดเป็น 96% จากทั้งหมด 204 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวด) นำส่งผลการดำเนินงาน โดยปี 2565 พบ บจ. ที่รายงานกำไรสุทธิจำนวน 144 บริษัท คิดเป็น 73% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด
Home บพท. สานพลังเบญจภาคีสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลดิจิทัลพัฒนาเมือง
บพท. สานพลังเบญจภาคีสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลดิจิทัลพัฒนาเมือง

บพท. สานพลังเบญจภาคีสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลดิจิทัลพัฒนาเมือง

มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย-องค์กรปกครองท้องถิ่น-เครือ ปตท. และ บพท. ลงนามเอ็มโอยูยกระดับการพัฒนาพื้นที่ ด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ปูทางสู่การสร้างท้องถิ่นอัจฉริยะและโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลดิจิทัลด้านการพัฒนาเมือง

 

 

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.ได้ต่อยอดขยายผลการใช้ประโยชน์ขององค์ความรู้จากงานวิจัยการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ ไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม  ด้วยการลงนามความร่วมมือโครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ ด้วยกลไกความรู้และความร่วมมือระดับประเทศ ระหว่าง บพท.กับ มูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 60 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์กรภาคธุรกิจเอกชนในเครือ ปตท.

 

“สาระสำคัญของความร่วมมือที่มีการลงนามร่วมกันดังกล่าว จะมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเปลี่ยนสู่ความเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ ผ่านงานวิจัยเชิงพื้นที่ และกระบวนการจัดระเบียบข้อมูลความรู้ด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นข้อมูลในระบบดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลดิจิทัลด้านการพัฒนาเมือง สำหรับให้ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ ตลอดจนออกแบบแผนงานโครงการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่น”

 

รศ.ดร.ปุ่น กล่าวด้วยว่า เอ็มโอยูที่ลงนามร่วมกันข้างต้น เป็นดอกผลจากการที่ บพท.และมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรนักพัฒนาเมืองระดับสูง (พมส.) เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดียิ่ง และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าการใช้งานวิจัย ตลอดจนทักษะในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น และนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นกับท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

 

 

นายอุดร ตันติสุนทร ประธานมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอดีตรมช.มหาดไทย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกันนี้ เพื่อมุ่งยกระดับทักษะความรู้แก่ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น และยกระดับคุณภาพ ตลอดจนประสิทธิภาพขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการให้บริการแก่ประชาชน

 

“ทุกวันนี้เรามีเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 175 แห่ง เทศบาลตำบลกว่า 2,000 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบลหรือ อบต.อีก 5,300 แห่ง ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ อบต.ทั้งหมด จะถูกยกระดับเป็นเทศบาลตำบล ดังนั้นการลงนามความร่วมมือกันดังกล่าว จึงน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาขีดความสามารถและประสิทธิภาพแก่องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีงบประมาณมากขึ้น ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ประชาชนจะเป็นสุข”   

 

นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือที่มีกาลงนามกันดังกล่าว จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกระบวนการท้องถิ่นปกครองตัวเอง ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านแผนงาน แผนคน และแผนงบประมาณให้เกิดขึ้นได้จริง และสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง

 

นายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้แทนบริษัทเอไอ แอนด์โรโบติกส์ เวนเจอร์ (เออาร์วี) ซึ่งเป็นกิจการในเครือ ปตท. กล่าวว่า เออาร์วี คือจิ๊กซอว์ด้านเทคโนโลยี ที่จะเข้าไปมีบทบาทในการเสริมคุณภาพ และประสิทธิภาพแก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ในการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และระบบบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะช่วยยกระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นอัจฉริยะ