• SCB EIC เผยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7% ทำให้ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ที่ 5.3% --- ปัจจัยการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 2024 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย
Home ARV จับมือ กรมทางหลวง นำโดรนไร้คนขับ HORRUS สำรวจพื้นที่อุทกภัย จ.เชียงราย
ARV จับมือ กรมทางหลวง นำโดรนไร้คนขับ HORRUS  สำรวจพื้นที่อุทกภัย จ.เชียงราย

ARV จับมือ กรมทางหลวง นำโดรนไร้คนขับ HORRUS สำรวจพื้นที่อุทกภัย จ.เชียงราย

ARV จับมือ กรมทางหลวง นำโดรนไร้คนขับ HORRUS สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย พร้อมช่วยเหลือและฟื้นฟูทางหลวงที่พังเสียหายอย่างรวดเร็ว


บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ผนึกความร่วมมือกับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง ในการนำเทคโนโลยีอากาศยานอัตโนมัติไร้คนขับ ภายใต้ชื่อ “HORRUS” (ฮอรัส) ที่พัฒนาขึ้นโดย ARV ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบและวิเคราะห์ทางหลวงที่ประสบอุทกภัย ระหว่างวันที่ 25 - 30 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อประเมินความเสียหายในพื้นที่เข้าถึงยาก ซึ่งพบจุดเสี่ยง 17 แห่ง ที่เกิดปัญหาดินถล่ม การทรุดตัวของทางหลวง และสะพานชำรุด เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวางแผนซ่อมแซมทางหลวง และช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาสัญจรได้อย่างรวดเร็ว





Horrus โดรนอัตโนมัติไร้คนขับ ที่ออกแบบมาเพื่อปฏิบัติงานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 นาทีต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง โดยสามารถกลับสู่สถานีชาร์จเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจครั้งต่อไปได้อย่างอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้สามารถส่งข้อมูลภาพถ่ายและวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K 30fps ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านระบบสื่อสารไร้สาย เพื่อนำไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลได้ทันท่วงที นอกจากนี้ Horrus ยังสามารถควบคุมการบินได้จากระยะไกลที่รัศมี 7 กิโลเมตรจากสถานีชาร์จ อีกทั้งยังสามารถใช้งานผสานเทคโนโลยีที่สำคัญ Segment Anything Model (SAM) และเทคโนโลยี AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มี เพื่อช่วยในการตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความตั้งใจของ ARV ที่ต้องการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์มาใช้เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านการสำรวจตรวจสอบและวิเคราะห์เส้นทางหลวงให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนสำหรับภารกิจในครั้งนี้




 

ภารกิจหลักของ “Horrus” ในครั้งนี้ ได้ทำหน้าที่สำรวจตรวจสอบเส้นทางหลวงในพื้นที่เข้าถึงยากและพื้นที่ที่ถูกทำลายด้วยกระแสน้ำ เพื่อประเมินความเสียหายของสภาพเส้นทางและวิเคราะห์การปรับเปลี่ยนของกระแสน้ำให้กับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดการวางแผนในการซ่อมแซมเส้นทาง และปรับเปลี่ยนการเดินทางได้ทันเวลา เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปสัญจรได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย นอกจากนี้ยังนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดดินถล่มซ้ำ ก่อนนำ "รถขุด" หรือ "เครื่องจักรกลหนัก" ของหน่วยงานรัฐเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างปลอดภัย


จากผลการปฏิบัติงานของ Horrus ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ปฏิบัติการวันละ 3 รอบ ระหว่างเวลา 08:00 – 17:00 น. ณ เส้นทางหลวงหมายเลข 1093 1098 1155 และ 1290 พบว่าความเสียหายทั้งสิ้น 17 แห่ง จำแนกตามประเภทความเสียหาย ได้แก่ ดินถล่ม 8 แห่ง การทรุดตัวของเส้นทางหลวง 6 แห่ง และสะพานชำรุด 3 แห่ง ภายใน 1 สัปดาห์ เป็นระยะการบินรวม 86.72 กิโลเมตร รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง 44 นาที และจากความสามารถของ Horrus ที่ส่งข้อมูลได้อย่างเรียลไทม์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่เห็นสถานการณ์จริง สามารถระบุตำแหน่งและจัดส่งทีมช่วยเหลือไปยังพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น


หลังปฏิบัติภารกิจช่วยน้ำท่วม จังหวัดเชียงรายในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ARV มีแผนงานร่วมกับสำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวง ขยายการใช้งาน “Horrus” ในการตรวจสอบและซ่อมแซมทางหลวง ในกรณีเกิดภัยพิบัติอื่น ๆ พร้อมกับการใช้ AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกสำหรับการวางแผนในอนาคต ซึ่ง Horrus จะช่วยตรวจสอบความเสียหายได้โดยไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่เสี่ยง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและซ่อมแซม อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของ Horrus จะช่วยให้สำนักบริหารบำรุงทาง กรมทางหลวงสามารถวิเคราะห์และวางแผนเชิงกลยุทธ์ ในการบริหารจัดการทางหลวงและโครงสร้างพื้นฐานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งผลลัพธ์ที่ได้ในระยะยาว ยังจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและการป้องกันความเสียหายของทางหลวง และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและรักษาโครงสร้างพื้นฐานได้อีกด้วย