เสริมทัพยกระดับเหมืองแร่สีเขียวอย่างยั่งยืน พร้อมตอบโจทย์ลดโลกร้อน
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมให้ข้อแนะนำ และแสดงความยินดีข้าราชการรับทุน TCMA สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เป็นกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนภารกิจเหมืองแร่สีเขียวอย่างยั่งยืน (Sustainable Green and Smart Mining) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและชุมชน พร้อมตอบโจทย์ลดโลกร้อน
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA สนับสนุน กพร. ในการยกระดับความสามารถ พัฒนาทักษะ และเสริมสร้างศักยภาพแก่ข้าราชการในสังกัด ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษา เพื่อนำความรู้กลับมาปฏิบัติราชการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องตามแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการศึกษาของ กพร. ที่ลงนามร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2562 ความร่วมมือนี้เป็นหนึ่งในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ TCMA โดยความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของไทยทุกราย ที่ร่วมมือกับ กพร. ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไปข้างหน้าตามเป้าหมาย Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap
“TCMA ขอแสดงความยินดีแก่ข้าราชการ กพร. ที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีจากการสนับสนุนทุนการศึกษาของ TCMA และวันนี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก กลับมาเป็นกำลังสำคัญของ กพร. ในการยกระดับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของประเทศ ส่งต่อเนื่องไปยังหลายอุตสาหกรรมนำไปใช้เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการผลิตที่หลากหลาย ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ TCMA เชื่อมั่นว่า ความรู้ที่ข้าราชการผู้รับทุนได้เพิ่มพูนมา และเครือข่ายความร่วมมือที่ได้เริ่มสร้างไว้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนงานของ กพร. เนื่องจากภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ในการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับเหมืองแร่สีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยการทำงานเชิงกลยุทธ์ ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมและการลงทุน ช่วยส่งเสริมศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถตอบโจทย์บริบทความท้าทายใหม่ๆ ของโลก รวมถึงสนับสนุนวาระลดโลกร้อน รักษาความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว” ดร. ชนะ กล่าว
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ให้ความสำคัญต่อการยกระดับพัฒนาเหมืองปูนซีเมนต์ ตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียวอย่างยั่งยืน (Sustainable Green and Smart Mining) โดยมุ่งส่งเสริมการทำเหมืองให้มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการ นำวัตถุดิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ ดูแลสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน และที่สำคัญเปิดโอกาสให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ รวมทั้งให้ความสำคัญตลอดต่อเนื่อง ไปถึงการพัฒนาพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองสิ้นสุดลงด้วย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ เช่น เป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชน การปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลังการทำเหมือง โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์