• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home การบินไทย-เตอร์กิชแอร์ไลน์ส บรรลุข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์
การบินไทย-เตอร์กิชแอร์ไลน์ส บรรลุข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์

การบินไทย-เตอร์กิชแอร์ไลน์ส บรรลุข้อตกลงความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเตอร์กิชแอร์ไลน์ส ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เพื่อพัฒนาความร่วมมือและศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการเที่ยวบินในลักษณะ Joint Venture Operations ของทั้ง 2 สายการบิน ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสายการบินแห่งชาติของไทยและสายการบินแห่งชาติของตุรกี

นครอิสตันบูล นับเป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งทำให้เตอร์กิชแอร์ไลน์ส มีความได้เปรียบในการให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อไปยังทวีปยุโรปและแอฟริกา โดยบริษัท การบินไทยฯ จะเริ่มทำการบินไปยังนครอิสตันบูล ในเส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล ทุกวัน วันละ 1 เที่ยวบิน ในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อยกระดับการเป็นสายการบินที่มีจุดเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นการเดินทางระหว่างประเทศไทย (จำนวนประชากร 66 ล้านคน) และประเทศตุรกี (จำนวนประชากร 85 ล้านคน) อีกด้วย

 


ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย พร้อมด้วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และฝ่ายบริหารทั้ง 2 สายการบิน ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อหารือถึงแนวทางการยกระดับความร่วมมือในการขยายเครือข่ายเส้นทางบินทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างกัน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการเที่ยวบินในลักษณะ Joint Venture Operations ในอนาคต

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในด้านเครือข่ายการบิน และการเชื่อมต่อการเดินทางของทั้งการบินไทยและเตอร์กิชแอร์ไลน์ส ซึ่งผู้โดยสารของทั้ง 2 สายการบินจะสามารถเดินทางระหว่างประเทศไทยและตุรกี รวมทั้งจุดหมายปลายทางอื่นจากทั้งสองประเทศได้อย่างสะดวกสบาย

Bilal Ekşi ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเตอร์กิชแอร์ไลน์ส เปิดเผยว่า ความตกลงครั้งนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างเตอร์กิชแอร์ไลน์สและการบินไทย ซึ่งจะผสานมรดกทางวัฒนธรรมของตุรกีและไทย เชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ภูมิภาค สร้างประสบการณ์เดินทางไร้รอยต่อ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกด้านจุดหมายปลายทาง และการบริการที่หลากหลายให้แก่ผู้โดยสาร ภายใต้เครือข่ายการบินของทั้ง 2 สายการบิน

 


เตอร์กิชแอร์ไลน์ส หนึ่งในสมาชิกพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 ปัจจุบัน มีฝูงบิน 425 ลำ ทำการบินไปยัง 344 จุดบินใน 129 ประเทศ เป็น 291 จุดบินระหว่างประเทศ และ 53 จุดบินในประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ turkishairlines.com รวมทั้ง Facebook, Twitter, YouTube, LinkedIn และ  Instagram ของทางสายการบิน

การบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2503 และหนึ่งในสมาชิกร่วมก่อตั้งของพันธมิตรสายการบินสตาร์อัลไลแอนซ์ ทำการบิน 57 จุดบินใน 19 ประเทศทั่วโลก ด้วยฝูงบิน 67 ลำ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) และเตอร์กิชแอร์ไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมการทำธุรกิจแบบ Joint Venture ของทั้ง 2 สายการบิน รวมทั้ง บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) จะเริ่มให้บริการเที่ยวบินไปยังนครอิสตันบูลในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินที่เป็นประตูสู่ประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและออสเตรเลีย และจะเป็นการเปิดประตูไปสู่ประเทศตุรกี กลุ่มประเทศที่มีอาณาเขตติดกับตุรกี กลุ่มประเทศแอฟริกา และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 29.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ 1.25 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างมาก ซึ่งหากนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้เดินทางมาประเทศไทยตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยได้ จึงจำเป็นที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะต้องเร่งหาตลาดใหม่และกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การเปิดเส้นทางบินใหม่ของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ระหว่างกรุงเทพฯ และนครอิสตันบูล จะมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากนครอิสตันบูลตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งการเดินทางระหว่างกันของประชาชนทั้งสองประเทศมีความสะดวกเนื่องจากได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศ ถ้าพำนักอยู่ในประเทศนั้น ๆ ไม่เกิน 30 วัน อีกทั้งสนามบินของนครอิสตันบูลจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังตลาดใหม่ ๆ ของประเทศที่มีอาณาเขตเชื่อมโยงกับตุรกี เช่น กรีซ จอร์เจีย บัลแกเรีย อาเซอร์ไบจาน กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศแอฟริกาอีกด้วย โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย และตุรกี (ประชากร 85 ล้านคน และมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน 2566) มีนักท่องเที่ยวจากประเทศตุรกี กลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกับตุรกี กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และกลุ่มประเทศแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 1.04 ล้านคน ขยายตัวกว่าร้อยละ 711.62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมั่นใจว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังคงมีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยจากการอันดับของสถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์มาสเตอร์การ์ด (Mastercard Economics Institute) เปิดเผยว่าในปี 2566 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมของเอเชียแปซิฟิกที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุด ซึ่งการเปิดเส้นทางบินใหม่ของบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ระหว่างกรุงเทพและนครอิสตันบูล จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้สร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศตุรกีและประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก รวมทั้งประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามต่อไป