ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกันภัยและการฉ้อฉลประกันภัยให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และประชาชนเชิงรุก “Let’s Journey.to.Protection.ปฏิบัติการ OICHERO : เปิดกลยุทธ์โตได้ไม่ล้ม ปราบฉ้อฉลไม่เป็นเหยื่อ” ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2566 จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านประกันภัยเชิงรุกแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้เข้าใจหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ความคุ้มครอง ตลอดจนข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของบุคคลหรือธุรกิจของตนเอง พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัยให้แก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัย
โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 สำนักงาน คปภ. ได้จัดกิจกรรม Road Show แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยประเภทต่าง ๆ ผ่านบูธนิทรรศการให้ความรู้ด้านการประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเชิงรุก (SME) และการฉ้อฉลประกันภัย ณ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้ประกอบการ (SME) และประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ต่อจากนั้นวันที่ 31 สิงหาคม 2566 สำนักงาน คปภ. ได้จัดเวทีสัมมนาและบรรยายพิเศษ “โครงการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกันภัย และการฉ้อฉลประกันภัย ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และประชาชนเชิงรุก” ณ โรงแรม โนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ
ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวเปิดงานโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่าการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของทุกคนนั้นมีความเสี่ยงต่าง ๆ สอดแทรกเข้ามาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเจ็บป่วย หรือการประสบอุบัติเหตุ และใช่ว่าทุกคนจะสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สิน อนามัย ชีวิต ทั้งหมดได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในทุกประเภทธุรกิจต่างก็มีความเสี่ยงที่หลากหลายและแตกต่างกันไป ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันภัยจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อรองรับความเสี่ยงภัยต่าง ๆ
ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยมีการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวถึงแม้ธุรกิจในขณะนี้จะมีการฟื้นตัว แต่เนื่องจากกลุ่มนี้ส่วนใหญ่สายป่านทางธุรกิจไม่ยาว ดังนั้นหากบริหารความเสี่ยงไม่ดีแล้วเกิดภัยขึ้นมาก็จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชน จึงนำความรู้ด้านประกันภัยมาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีที่มีหลายภาคส่วนธุรกิจได้ทราบถึงลักษณะของประกันภัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ประเภทแรก กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประกันภัยภาคบังคับไว้ มิฉะนั้นจะเป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ มีกฎหมายว่าด้วยการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทุกรายต้องจัดให้มีการประกันภัยอุบัติเหตุให้แก่ นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนให้มีการออกกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทางสำหรับธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (Travel Accident Insurance for Tour Operators and Guides) เพื่อคุ้มครองนักท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือบาดเจ็บ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น
ธุรกิจประเภทหอพัก เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องจัดให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้พัก โดยสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้มีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้พักในหอพัก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาประกันภัยได้ตามกฎหมาย ซึ่งมีการกำหนดความคุ้มครองการเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง และค่ารักษาพยาบาลของผู้พักอันเป็นผลมาจากหอพักเกิดไฟไหม้หรือระเบิด หรือผู้พักถูกฆาตกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย โดยเกิดจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในหอพัก รวมทั้งคุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัวของผู้พักอันเป็นผลมาจากสถานที่ประกันภัยเกิดไฟไหม้ หรือระเบิด
อีกทั้ง ยังมีประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอาคาร ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร โดยกำหนดให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งอาคารของเอกชน เช่น อาคารสูง โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม รวมถึงป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
นอกจากนี้ ยังมีกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการควบคุมประเภท 3 เช่น ธุรกิจคลังน้ำมัน หรือสถานีบริการน้ำมัน ต้องจัดให้มีการประกันภัยความเสียหายที่เกิดจากอัคคีภัยหรือการระเบิดอันเกิดจากการประกอบกิจการควบคุมประเภทที่ 3 โดยสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้มีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการประกันภัยกิจการควบคุมประเภทที่ 3 (ปั๊มน้ำมัน) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาประกันภัยได้ตามกฎหมาย ซึ่งมีการกำหนดความคุ้มครองความเสียหายจากอัคคีภัย หรือการระเบิดอันเกิดจากการประกอบกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานที่ประกอบการ และทำให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหาย เป็นต้น
ประเภทที่ 2 การทำประกันภัยโดยสมัครใจ นอกเหนือจากการประกันภัยภาคบังคับตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ต้องจัดให้มีการประกันภัยแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังมีทางเลือกในการจัดหาประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับกิจการของตนเองได้หลากหลายรูปแบบ คือ การประกันภัยทรัพย์สินซึ่งคุ้มครองความสูญเสียหรือเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากภัยต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ระเบิด ภัยธรรมชาติ ลมพายุ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรืออุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดหมาย รวมทั้ง อาจเลือกการประกันภัยสำหรับความเสี่ยงต่อภัยใดภัยหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ประกันอัคคีภัยที่ให้ความคุ้มครองหลักต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัตถุที่เอาประกันภัยจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิดของแก๊สที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย โดยอาจมีการเพิ่มเติมความคุ้มครองต่อภัยจากน้ำท่วม ลมพายุ หรือแผ่นดินไหว เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจประกันภัยออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่วนบุคคล เช่น กรมธรรม์ประกันภัยการเดินทาง กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรมธรรม์ประกันภัยไซเบอร์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง
“สำนักงาน คปภ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการให้ความรู้ด้านประกันภัยกับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ผ่านโครงการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเชิงรุก ภายใต้หัวข้อการสัมมนา “การประกันภัยสำหรับธุรกิจ SME” โดยมีการจัดสัมมนาและลงพื้นที่ให้ความรู้ ทั้งในพื้นกรุงเทพและปริมณฑล และในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ กระบี่ ระยอง พระนครศรีอยุธยา เลย ภูเก็ต และในครั้งนี้จัดที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ EEC หากผู้ประกอบการ SMEs ท่านใดมีข้อเสนอเกี่ยวกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องที่หรือข้อแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ที่ควรได้รับการสนับสนุน สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะนำข้อแนะนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจต่อไป หรือถ้าทำประกันภัยแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถแจ้งสำนักงาน คปภ. จังหวัดหรือสำนักงาน คปภ. ภาคที่อยู่ในพื้นที่ หรือโทรสายด่วน คปภ. 1186 เราพร้อมดูแลอย่างเต็มที่ครับ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย