• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดในการประชุม FOMC วันที่ 6-7 พ.ย. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 4.50-4.75% สอดคล้องกับที่ตลาดคาด และยังมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อเนื่องในเดือนธ.ค. 2567 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% ณ สิ้นปี 2567 เนื่องจาก เงินเฟ้อที่ปรับลดลงเข้าใกล้เป้าหมายของเฟด เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงสู่ “Soft Landing” และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีส่วนกำหนดทิศทางดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า
Home ตลาดหลักทรัพย์ฯต้อนรับ ธ.ไทยเครดิต'CREDIT' ซื้อขาย 9 ก.พ.
ตลาดหลักทรัพย์ฯต้อนรับ ธ.ไทยเครดิต'CREDIT' ซื้อขาย 9 ก.พ.

ตลาดหลักทรัพย์ฯต้อนรับ ธ.ไทยเครดิต'CREDIT' ซื้อขาย 9 ก.พ.

บมจ. ธนาคารไทยเครดิต ธนาคารพาณิชย์ ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์และสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการเติบโตสูง พร้อมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 9 ก.พ. นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 35,649.39 ล้านบาท โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ ว่า “CREDIT”

 

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. ธนาคารไทยเครดิต เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจธนาคาร โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “CREDIT” ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 

 

CREDIT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) และสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (Micro SME) มายาวนานกว่า 15 ปี แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มคนค้าขายที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ซึ่งมีจำนวนมากและถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ธนาคารมีทีมวิเคราะห์สินเชื่อและบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง ผ่านสาขาการให้บริการกว่า 527 แห่ง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และช่องทางดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้มีอัตราการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อเติบโตอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพสินเชื่อที่ดี โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มี Net Interest Margin (NIM) สูงถึง 8.76% มีจำนวนสัญญาให้สินเชื่อกว่า 370,000 บัญชี และพร้อมที่จะให้บริการด้วยผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ภายหลังได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังให้เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบเมื่อ 17 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

 

CREDIT มีทุนชำระแล้ว 6,146.45 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนรวม 254.13 ล้านหุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิมของ OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. 189.42 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 64.71 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้แก่ 1) บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ พนักงาน และผู้มีอุปการคุณของธนาคารฯ ระหว่างวันที่ 23 – 26 มกราคม 2567  2) ผู้ลงทุนสถาบัน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศ นิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ และผู้ลงทุน (รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในต่างประเทศ ผ่านผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ราคาหุ้นละ 29 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,876.47 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 35,649.39 ล้านบาท โดยมีธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญร่วม

 

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้บริษัทเติบโตตามกลยุทธ์ที่วางไว้ทั้งในเชิงธุรกิจและการขับเคลื่อนสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการไมโครไฟแนนซ์ของประเทศไทย สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure)

 

CREDIT มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มวี.ซี.สมบัติ ถือหุ้น 60.40% 2) นายวิญญู ไชยวรรณ ถือหุ้น 6.40% และ 3) กลุ่มนายวีรเวท ไชยวรรณ ถือหุ้น 1.90% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มีการพิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) โดยราคาที่เสนอขายคิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value : P/BV) เท่ากับ 2.12 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value Per Share) ที่ 13.70 บาทต่อหุ้น ซึ่งคำนวณจากมูลค่าตามบัญชีของธนาคารฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ ทั้งนี้ ธนาคารมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมายและตามที่ธนาคารฯ กำหนด ซึ่งไม่เกินกว่ากำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะกิจการ