• SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่ภาวะการเงินตึงตัวจะเริ่มส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเริ่มปรับสูงขึ้น *** จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า (2025)
Home ตลาดหุ้นไทย ต้นปี 67 ต่างชาติขาย 30,870 ล้านบาท
ตลาดหุ้นไทย ต้นปี 67 ต่างชาติขาย 30,870 ล้านบาท

ตลาดหุ้นไทย ต้นปี 67 ต่างชาติขาย 30,870 ล้านบาท

สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนเดือนมกราคม 2567

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2567 ขยายตัว 4.4% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 3.6% เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลไทยออกมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง ขณะที่เงินเฟ้อโลกปรับลงรวดเร็วกว่าคาด อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ FOMC พิจารณาให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เงินเฟ้อกำลังปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน

 

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนแรกปี 2567 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นไทย จากการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งส่งผลไปถึงการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2566 และหากพิจารณา fund flow ของผู้ลงทุนต่างชาติในช่วง 10 ปีย้อนหลังพบว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าเฉพาะในปีที่มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลออกแต่สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นต่างประเทศเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ยังคงอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีต นอกจากนี้ หากพิจารณาจากอัตราส่วน Price to Book (P/B ratio) ของ SET Index ยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่อัตราตอบแทนจากเงินปันผลของ SET ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.24% ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของ   ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากต้นปี 2566 จากปัจจัยกดดันทั้งในและต่างประเทศ

 

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

 

· ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,364.52 จุด ปรับลดลง 3.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค

 

· ในเดือนมกราคม 2567 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มทรัพยากร กลุ่มบริการ กลุ่มเกษตรและอาหาร และ กลุ่มเทคโนโลยี

 

 

· ในเดือนมกราคม 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 47,111 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 34.6% ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิหลังจากที่ซื้อสุทธิในเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2567 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 30,870 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21

 

· ในเดือนมกราคม 2567 มีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท (ADVICE)

 

· Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.9 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 16.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.7 เท่า

 

· อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.24% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.31%

 

 

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

 

  • ในเดือนมกราคม 2567 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 404,435 สัญญา ลดลง 17.3% จากเดือนก่อน สาเหตุสำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures