• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ สถานการณ์เงินบาทเริ่มพลิกผันกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 จนทะลุแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือนที่ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม 2567 หลังประธานเฟดส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย *** ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าและสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตะวันออกกลางดันให้ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งเพิ่มแรงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกทางหนึ่ง *** เตือนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ที่มีรายรับ-รายจ่ายในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
Home ธ.ก.ส.ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย
ธ.ก.ส.ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย

ธ.ก.ส.ยกระดับ SME สู่แกนกลางเกษตรไทย เติมความรู้ฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อย

ภายใต้หลักการตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

ธ.ก.ส. พร้อมมุ่งสู่แกนกลางการเกษตร ยกระดับ SME และเกษตรกรหัวขบวน โดยเติมองค์ความรู้ด้านการผลิตสู่เกษตรมูลค่าสูง และการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐาน พร้อมเชื่อมโยงการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" ในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ พัฒนาศักยภาพการผลิตและเชื่อมโยงการตลาด อันนำไปสู่การสร้างรายได้และช่วยให้เกษตรกรสามารถหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน

 


วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2567) นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในการเปิดงานเสวนาโครงการ "การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้" ภายใต้หลักการ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" โดยนำเกษตรกรหัวขบวน และผู้ประกอบการ SME เกษตรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ มาร่วมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ให้สามารถฟื้นฟูการประกอบอาชีพ มีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การหลุดพ้นกับดักหนี้อย่างยั่งยืน โดยมีคณะผู้บริหาร เกษตรกรหัวขบวน ผู้ประกอบการ SME เกษตรและพนักงาน ธ.ก.ส. เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารทาวเวอร์ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

 


นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในช่วงปี 2567 – 2569 พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องเข้าร่วมการเสริมความรู้ฟื้นฟูทักษะในการประกอบอาชีพภายใต้แนวทาง “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ใหม่” เป้าหมายเกษตรกร จำนวน 900,000 ราย เพื่อขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นการเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้จับมือกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพ การเพิ่มศักยภาพในการผลิต การแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูง ทั้งการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแปรรูปและพัฒนาผลผลิต ให้กับเกษตรกรหัวขบวนและผู้ประกอบการ SME เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีคิด เช่น ก่อนลงมือผลิต ตั้งคำถาม ขายอะไร? ขายใคร? ขายเมื่อไหร่? ขายที่ไหน? ขายปริมาณ? ขายราคา? รวมถึงสามารถเชื่อมโยงตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ระหว่างผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย เช่น การรับซื้อผลผลิต การจ้างแรงงานในพื้นที่ หรือการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อยในการพัฒนาศักยภาพในการผลิต เป็นต้น พร้อมจัดเสวนา "การยกระดับ SME เกษตรหัวขบวน สู่แกนกลางเกษตรไทย เพื่อการฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้" โดยนำเครือข่ายส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เครือข่ายผู้ประกอบการ SME และเกษตรกร หัวขบวน กลุ่ม New Gen และ Young Smart Farmer ที่อยู่ในโครงการ Design & Manage by Area (D&MBA) ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 10 ราย มาร่วมระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองในการเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการประกอบอาชีพ สู่การสร้างงานสร้างรายได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างตรงจุดและยั่งยืน
 

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับเกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมในการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตอันนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน