• SCB EIC เผยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7% ทำให้ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ที่ 5.3% --- ปัจจัยการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 2024 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย
Home สคร. เร่งรัฐวิสาหกิจลงทุนต่อเนื่อง ก่อน (ร่าง) พ.ร.บ.งบ' 67 มีผลบังคับใช้
สคร. เร่งรัฐวิสาหกิจลงทุนต่อเนื่อง ก่อน (ร่าง) พ.ร.บ.งบ' 67 มีผลบังคับใช้

สคร. เร่งรัฐวิสาหกิจลงทุนต่อเนื่อง ก่อน (ร่าง) พ.ร.บ.งบ' 67 มีผลบังคับใช้

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรงและมีการเบิกจ่ายงบลงทุนมีจำนวน 43 แห่ง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีงบประมาณ (รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ) และรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีปฏิทิน (รัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน) โดยในปี 2567 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 58,207 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 129 ของแผนการเบิกจ่าย ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566-เดือนกุมภาพันธ์ 2567) 34 แห่ง จำนวน 42,986 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 127 ของแผนการเบิกจ่าย และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (เดือนมกราคม 2567-เดือนกุมภาพันธ์ 2567) 9 แห่ง จำนวน 15,221 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 134 ของแผนการเบิกจ่าย ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายและมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการประปานครหลวง และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของแผนการเบิกจ่ายและมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

 


นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะของ รฟม. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ของ รฟท. และโครงการทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า การเบิกจ่ายงบลงทุน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 5 เดือน คิดเป็นร้อยละ 35 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี และผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน 2 เดือน คิดเป็นร้อยละ 12 ของกรอบงบลงทุนทั้งปี โดยรัฐวิสาหกิจได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในช่วงระหว่างการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ทำให้ในภาพรวมมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนคิดเป็นร้อยละ 24 ของกรอบงบลงทุน ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สคร. จะกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป