• SCB EIC คาด กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่ภาวะการเงินตึงตัวจะเริ่มส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจะเริ่มปรับสูงขึ้น *** จึงประเมินว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า (2025)
Home สนพ. หนุนระบบ NZE Microgrid ศึกษาความพร้อมอาคารภาครัฐต้นแบบลดค่าไฟฟ้า
สนพ. หนุนระบบ NZE Microgrid ศึกษาความพร้อมอาคารภาครัฐต้นแบบลดค่าไฟฟ้า

สนพ. หนุนระบบ NZE Microgrid ศึกษาความพร้อมอาคารภาครัฐต้นแบบลดค่าไฟฟ้า

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เผยผลสำรวจ ศึกษา การนำระบบ NZE Microgrid ใช้ในหน่วยงานราชการ หวังเป็นต้นแบบลดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) สนพ. จึงได้ปรับแผนพลังงานชาติเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้พลังงานนั้นคือการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy; NZE) หรือการใช้พลังงานสมดุลกับปริมาณการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด

ปัจจุบันเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์พลังงานรวมทั้งการผลิตพลังงานทดแทนมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีการบริหารจัดการพลังงานรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิดของโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นการรวมระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดพร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงาน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ที่กำหนดไว้

 


หน่วยงานราชการถือเป็นต้นแบบที่ดีในการส่งเสริมการใช้ระบบ NZE Microgrid เนื่องจากมีการกระจายตัวของหน่วยงานครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และมีช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าตรงกับช่วงเวลาการทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ที่ปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ ในขณะที่ช่วงนอกเวลาราชการจะมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ซึ่งหน่วยงานราชการสามารถนำพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้จากระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันที่สะสมไว้ในระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) มาใช้งานในช่วงเวลาดังกล่าวได้

สนพ. จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพลังงานรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิดของโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ส่วนราชการ จึงได้นำร่องศึกษาระบบ NZE Microgrid เพื่อให้เกิดการใช้งานในประเทศ โดยได้คัดเลือกพร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจหน่วยงานราชการที่มีศักยภาพและมีความพร้อม จำนวน 29 แห่ง เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความคุ้มค่าของการใช้งานระบบ NZE Microgrid และพบว่าอาคารของหน่วยราชการแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงกายภาพและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ อายุของอาคาร ตำแหน่งที่ตั้ง พื้นที่และรูปทรงหลังคา รูปแบบ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบระบบ NZE Microgrid นอกจากนี้อาคารบางแห่งยังจำเป็นต้องมีการกักเก็บไฟฟ้าสำรองไว้เพื่อรองรับโหลดวิกฤต (Critical Load) ตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องมีการออกแบบและจัดเตรียมระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ให้มีความสอดคล้องกับปริมาณดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย

ผลจากการศึกษาและสำรวจพบว่า หน่วยงานราชการทั้ง 29 แห่ง มีศักยภาพและสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสร้างการพึ่งพาตนเองในรูปแบบ NZE Microgrid ได้ ซึ่งหากประสบผลสำเร็จจะสามารถจัดทำแผนการผลักดันให้มีการขยายการส่งเสริมการใช้ระบบ NZE Microgrid ในพื้นที่ส่วนราชการ โดยในระยะสั้นจะนำร่องการใช้งาน NZE Microgrid ในกลุ่มสถาบันการศึกษา สำนักงานพลังงานจังหวัด หรือหน่วยงานราชการที่มีลักษณะเป็นโครงข่ายไฟฟ้าส่วนบุคคล (Private Wire) ต่อมาจะขยายผลการใช้งาน NZE Microgrid กับประเภทส่วนราชการที่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ และในระยะยาวจะขยายผลไปยังส่วนราชการทุกประเภท ซึ่งการส่งเสริมการใช้ระบบ NZE Microgrid จะช่วยลดค่าไฟฟ้าในระยะยาวและยกระดับความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของหน่วยงานไปพร้อมกันด้วย