• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home TSE ส่งซิก Q4 สดใส บุ๊กรายได้โปรเจคโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นปักหมุดรายได้ปี 66 ออลไทม์ไฮ
TSE ส่งซิก Q4 สดใส บุ๊กรายได้โปรเจคโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นปักหมุดรายได้ปี 66 ออลไทม์ไฮ

TSE ส่งซิก Q4 สดใส บุ๊กรายได้โปรเจคโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นปักหมุดรายได้ปี 66 ออลไทม์ไฮ

รุกขยายธุรกิจ Private PPA หนุนอนาคตเติบโตก้าวกระโดด

 

บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่  (TSE) ส่งสัญญาณแนวโน้มผลงาน Q4/66 โตต่อเนื่อง หลัง COD โครงการโอนิโกเบ (Onikoube)” โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าญี่ปุ่น 133 เมกะวัตต์ ฟากซีอีโอ "ดร. แคทลีน มาลีนนท์"
ปักหมุดรายได้ปีนี้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เดินเกมรุกธุรกิจ Private PPA  หนุนผลงานโตก้าวกระโดด

 

ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น “โครงการโอนิโกเบ (Onikoube)” กำลังการผลิตตามสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าญี่ปุ่น 133 เมกะวัตต์ เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว

 

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้รวมปี 2566 (รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้า) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โอนิโกเบ (Onikoube) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วในไตรมาส 2/2566

 

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รอบที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์ แล้ว กลุ่มบริษัทยังเตรียมความพร้อมเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการจัดหาไฟฟ้าฯ รอบที่ 2 ที่มีโควตาออกมา 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าได้งานไม่ต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์

 

อีกทั้งกลุ่มบริษัทฯ ยังศึกษาโครงการ Waste to Energy หรือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานจากขยะ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเจรจากับผู้เกี่ยวข้อง และอยู่ระหว่างศึกษาโครงการ ซึ่งมีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ หากเดินหน้าโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่าพันล้านบาท ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทฯ ได้เริ่มรุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือ ข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนอาคาร รวมไปถึงการติดตั้งบนบ่อน้ำ (Solar Floating) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์การลงทุน การออกแบบ การติดตั้ง ไปจนถึงการบำรุงรักษา อีกทั้งยังมีการรับประกันตลอดอายุสัญญา ตามความต้องการของผู้ประกอบการหรือองค์กร โดยองค์กรไม่ต้องลงทุนแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรยังสามารถเลือกรูปแบบการติดตั้งและการบริหารค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการใช้งานขององค์กร เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสำหรับการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า เพื่อผลกำไรในการดำเนินธุรกิจที่มากขึ้นในระยะยาว โดยธุรกิจใหม่ดังกล่าวจะเข้ามาสนับสนุนฐานรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทฯ มากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

 

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3/2566 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขาย และการให้บริการรวมจำนวน 559.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 226.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 332.9 ล้านบาท  และมีส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 150.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อรวมรายได้อื่นๆ กลุ่มบริษัทฯ จึงมีรายได้รวม 712.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 120.6 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งเท่ากับ 121.5 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทฯ มีการบันทึกรายการพิเศษซึ่งเป็น non-cash item ขาดทุนจากการจำหน่ายอุปกรณ์จำนวน 52.2 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าวจะทำให้มีกำไรถึง 172.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 51.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.2%

 

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวมเป็นจำนวน 1,388.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 391.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39.3 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 997.1 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมค้าจำนวน 539.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 495.1 ล้านบาท และเมื่อรวมรายได้อื่นๆ กลุ่มบริษัทฯ จึงมีรายได้รวมถึง 1,972.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 506.1 ล้านบาท ลดลง 125 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19.8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 631.1 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เมื่องวด 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายการพิเศษจากการรับรู้กำไรจากการจำหน่ายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 234.4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการกำไรพิเศษดังกล่าว กลุ่มบริษัทฯ จะมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปีก่อนเท่ากับ 396.6 ล้านบาท เป็นผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสำหรับงวด 9 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นถึง 109.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

โดยกำไรจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2566 ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและให้บริการในเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น “โครงการโอนิโกเบ (Onikoube)” เต็มไตรมาส และการประกาศปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รวมไปถึงการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่องในกลุ่มต้นทุนเชื้อเพลิงของโครงการชีวมวล (Biomass)