• SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%  *** ด้าน Krungthai COMPASS เผยส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น
Home ก.ล.ต.เข้มเกณฑ์บริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง บลจ.-คุ้มครองผู้ลงทุน
ก.ล.ต.เข้มเกณฑ์บริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง บลจ.-คุ้มครองผู้ลงทุน

ก.ล.ต.เข้มเกณฑ์บริหารความเสี่ยงสภาพคล่อง บลจ.-คุ้มครองผู้ลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวม เพื่อยกระดับให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพและมีเครื่องมือบริหารสภาพคล่องที่หลากหลาย เพื่อคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนมากยิ่งขึ้น

 

จากสถานการณ์ความผันผวนของภาวะตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ส่งผลกระทบให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมมีความผันผวนสูง และหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องยกระดับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม

 

ก.ล.ต. ได้จัดประชุมหารือร่วมกับประธานกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของ บลจ. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาธุรกิจและสื่อสารบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม โดย ก.ล.ต. และผู้ประกอบธุรกิจเห็นความสำคัญร่วมกันในการยกระดับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยกำหนดให้ (1) บลจ. มีแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท ซึ่งประกอบด้วย การบริหารความเสี่ยงตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบกองทุน การติดตามความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงมีแผนรองรับที่เหมาะสม และ (2) บลจ. ต้องจัดให้มีเครื่องมือบริหารสภาพคล่องอย่างเพียงพอเพื่อรองรับการจัดการกองทุน ซึ่งจะช่วยรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมในกรณีที่เกิดความผิดปกติรุนแรง อีกทั้ง ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศที่เกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 12 มีนาคม - 10 เมษายน 2564 และคณะกรรมการ ก.ต.ท. ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวม

 

ก.ล.ต. จึงได้ออกประกาศเพื่อรองรับการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม จำนวน 3 ฉบับ โดยกำหนดให้ บลจ. จัดทำแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท และจัดทำระบบรองรับการใช้เครื่องมือบริหารสภาพคล่องภายในวันที่ 1 มกราคม 2565 นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำแนวทางดำเนินการในรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวมเปิดเพื่อเป็นแนวทางให้ บลจ. ถือปฏิบัติด้วย ทั้งนี้ ประกาศทั้ง 3 ฉบับ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การออกหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและเครื่องมือบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมทำให้ บลจ. มีการยกระดับกระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเครื่องมือบริหารสภาพคล่องที่หลากหลายและเพียงพอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมและลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน”