• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home กรมธนารักษ์-กรมชลประทาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ
กรมธนารักษ์-กรมชลประทาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ

กรมธนารักษ์-กรมชลประทาน แก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ

วันนี้ (27 กันยายน 2566) ณ กรมธนารักษ์ นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ และ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน

 


นายจำเริญ เปิดเผยว่า ภายใต้บันทึกข้อตกลงดังกล่าว กรมธนารักษ์และกรมชลประทานจะร่วมมือกัน เพื่อการบูรณาการประสานความร่วมมือกำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทานหลักการ คือ ใช้ประโยชน์ในราชการของกรมชลประทานและนำกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุมาผ่อนปรนให้ราษฎรสามารถอาศัยทำกินได้ในพื้นที่ที่กรมชลประทานเห็นชอบ โดยการกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning) แบ่งออกจำนวน 3 โซน ดังนี้


โซนที่ 1 พื้นที่เพื่อการชลประทานเป็นหลัก

โซนที่ 2 พื้นที่ผ่อนปรน กรมชลประทานยังคงสงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการชลประทานแต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ชัดเจนและเห็นชอบร่วมกันให้มีการยินยอมผ่อนปรนให้สามารถนำที่ดินมาจัดให้ราษฎรเช่าเป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน และระยะเวลาการเช่าที่ทางราชการกำหนด

โซนที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ กรณีกรมชลประทานไม่ประสงค์สงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการชลประทานอีกต่อไป เนื่องจากหมดความจำเป็นหรือเคยใช้ประโยชน์แต่ต่อมาเลิกใช้ประโยชน์แล้ว ยินยอมส่งคืนให้กรมธนารักษ์นำมาบริหารจัดการตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ รวมถึงการบูรณาการ เรื่อง การจัดทำข้อมูลด้านทะเบียนที่ราชพัสดุและข้อมูลการบุกรุกที่ราชพัสดุโดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้จะเป็นแนวทางการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานในการทำงานร่วมกันต่อไป โดยในการดำเนินการจังหวัดเจ้าของพื้นที่จะแต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่

นายจำเริญ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้ได้ตกลงร่วมกันในการบูรณาการความร่วมมือดำเนินการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกรมชลประทาน ในพื้นที่โครงการนำร่อง จำนวน 6 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย นครปฐม เพชรบุรี สุรินทร์ และนครนายก สำหรับพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่และหน่วยงานกรมชลประทานที่รับผิดชอบในพื้นที่นั้นสามารถดำเนินการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุตามแนวทางและมาตรการที่กรมธนารักษ์และกรมชลประทานได้ตกลงร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ได้ด้วยเช่นกัน