• SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%  *** ด้าน Krungthai COMPASS เผยส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น
Home ธปท.เผย Q1 โควิดฉุดบริโภคเอกชนแย่ลง-เงินเฟ้อติดลบมากขึ้น
ธปท.เผย Q1 โควิดฉุดบริโภคเอกชนแย่ลง-เงินเฟ้อติดลบมากขึ้น

ธปท.เผย Q1 โควิดฉุดบริโภคเอกชนแย่ลง-เงินเฟ้อติดลบมากขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ส่วนค่าบาทสอดคล้องเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2564​

 

เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2564 ทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดรอบสองของ COVID-19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ส่งผลให้เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากผลของฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อย

 

 

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาดรอบสองของ COVID-19 คลี่คลายลง ประกอบกับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐที่มีต่อเนื่องทำให้การใช้จ่ายปรับดีขึ้นในทุกหมวด และ 2) ผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดฯ รอบแรก

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงที่ร้อยละ 15.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหากไม่รวมหมวดทองคำ มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 22.1 โดยเป็นการขยายตัวที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน จาก 1) อุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวด 2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และ 3) ฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดฯ รอบแรก นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดีแม้ชะลอลงบ้าง จากผลดีของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นสอดคล้องกัน

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวดีสอดคล้องกับทิศทางการส่งออก อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนกิจกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างที่ยังอ่อนแอ

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 15.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวสูงต่อเนื่องในเกือบทุกหมวดสำคัญตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อน

 

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานสูงในระยะเดียวกันปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังหดตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยยังมีไม่มาก

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สะท้อนจากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมต่อผู้ประกันตนทั้งหมดที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่

 

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบสองของ COVID-19 ทำให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับแย่ลง โดยมาตรการกระตุ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำกลับมาขยายตัวดีในหลายหมวดสินค้า ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนทรงตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาอาหารสดที่ลดลง และผลของมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าไตรมาสก่อน จากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยเฉลี่ยปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง จึงทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัว