• SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%  *** ด้าน Krungthai COMPASS เผยส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น
Home ธปท.เผยระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 63 แกร่งกำไร 146.2 พันล.
ธปท.เผยระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 63 แกร่งกำไร 146.2 พันล.

ธปท.เผยระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 63 แกร่งกำไร 146.2 พันล.

นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2563 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อและชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบของโควิด-19 ต่อคุณภาพสินเชื่อ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,994.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ร้อยละ 20.1 เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 799.1 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ร้อยละ 149.2 และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ร้อยละ 179.6

 

 

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน จากร้อยละ 2.0 ในปี 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 64.2 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 เทียบกับปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 0.8 ปัจจัยหลักจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่วนหนึ่งกลับมาใช้สินเชื่อแทนการออกตราสารหนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ขณะที่สินเชื่อ SMEs1 หดตัวในอัตราที่ลดลงจากผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan)

 

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 35.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 สอดคล้องกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยทยอยปรับดีขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งนี้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะแนวราบที่ปรับดีขึ้นและแคมเปญการตลาดของผู้ประกอบการ

 

 

ด้านคุณภาพสินเชื่อ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 523.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.12 ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 6.62

 

 

 

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในปี 2563 จำนวน 146.2 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการกันสำรองในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อคุณภาพหนี้ในระยะต่อไป ประกอบกับผลของฐานสูงจากรายได้จากเงินลงทุนซึ่งเป็นปัจจัยพิเศษในปีก่อน สำหรับอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.65 จากปีก่อนที่ร้อยละ 1.39 และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.51 จากปีก่อนที่ร้อยละ 2.73