• SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%  *** ด้าน Krungthai COMPASS เผยส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น
Home เศรษฐกิจเดือนธันวาคม 65 รับปัจจัยสนับสนุน'ท่องเที่ยว'ทุกภูมิภาค
เศรษฐกิจเดือนธันวาคม 65 รับปัจจัยสนับสนุน'ท่องเที่ยว'ทุกภูมิภาค

เศรษฐกิจเดือนธันวาคม 65 รับปัจจัยสนับสนุน'ท่องเที่ยว'ทุกภูมิภาค

เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาคตะวันตก และภาคใต้



นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2565 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาคตะวันตก และภาคใต้” โดยมีรายละเอียดดังนี้

 



เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 52.3 ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 11.1 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -12.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.8 อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 33.5 ต่อปี เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 427.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 59.6 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในศูนย์บริการตรวจเช็ค ซ่อมเครื่องยนต์ และศูนย์เคาะพ่นสีรถยนต์ ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.0 อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการบริการสะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 54.4 และ 62.5 ต่อปี ตามลำดับ

 



เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 45.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 44.2 ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัว เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.1 อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 118.7 และ 217.7 ต่อปี ตามลำดับ



เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 24.7 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 52.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7 สำหรับเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 88.8 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 29.8 และ 45.6 ต่อปี ตามลำดับ

 



เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 28.4 และ 29.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 50.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -6.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัวร้อยละ -98.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 23.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 79.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 77.6 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 44.7 และ 77.0 ต่อปี ตามลำดับ

 



เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว รายได้เกษตรกรและการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 20.3 ต่อปี และ 20.8 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 72.5 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 51.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.8 อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว นอกจากนี้เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.6 อย่างไรก็ตามเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 58.1 และ 177.6 ต่อปี ตามลำดับ

 



เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 48.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.8 และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 37.4 ต่อปี เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 78.9 และ 334.7 ต่อปี ตามลำดับ

 


เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนธันวาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 47.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 46.8 และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 25.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 1,087.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 437.2 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตสารเคมีเพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพเหล็ก ในจังหวัดระยอง เป็นสำคัญ เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.0 อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 50.0 และ 58.7 ต่อปี ตามลำดับ