• SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%  *** ด้าน Krungthai COMPASS เผยส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น
Home เศรษฐกิจไทย ขยายตัวต่อเนื่อง ท่องเที่ยวคึกคัก เงินเฟ้อลดลง
เศรษฐกิจไทย ขยายตัวต่อเนื่อง ท่องเที่ยวคึกคัก เงินเฟ้อลดลง

เศรษฐกิจไทย ขยายตัวต่อเนื่อง ท่องเที่ยวคึกคัก เงินเฟ้อลดลง

ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2566

 

“เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง”

 

 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2566 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.4 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนเมษายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.0 จากระดับ 53.8 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และสูงสุดในรอบ 38 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สำหรับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนเมษายน 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -7.0 และ -1.4 ตามลำดับ

 

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -8.4  แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.1 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมีนาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.2 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.4 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -30.0

 

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนเมษายน 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 12.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.4 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าวโพด และหมวดปศุสัตว์ เป็นต้น สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 95.0 จากระดับ 97.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการชะลอตัวของการผลิตจากวันหยุดต่อเนื่องในช่วงวันสงกรานต์ และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว และต้นทุนค่าระวางเรือที่เริ่มคลี่คลายลง สำหรับภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนเมษายน 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.18 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 644.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 18.2 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย รัสเซียและเกาหลีใต้ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 21.3 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 27.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 11.0

 

 

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.67 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.66 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.2 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.58 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 223.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค

 

เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวทั้งจากคนไทยและต่างประเทศในทุกภูมิภาค รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค

 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวทั้งจากคนไทยและต่างประเทศในทุกภูมิภาค รายได้เกษตรกรที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค” โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 32.6 ต่อปี แม้ว่าจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 53.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.3 สำหรับเครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 37.7 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 38.4 ต่อปี

 

 

เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในส่วนของเงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 21.2 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ อีกทั้งรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 32.4 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 1,702.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1,326.5 ต่อปี จากการลงทุนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดพิจิตร เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.4 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 27.7 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 49.6 ต่อปี

 

 

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไป รายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี และ 22.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 39.9 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 52.5 ต่อปี

 

 

เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไป และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -29.6 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 51.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 86.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 85.6 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 126.7 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 188.9 ต่อปี 

 

 

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.04 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -15.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 4,743.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 244.5 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 68.6 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 223.3 ต่อปี

 

 

เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 57.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.5 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.4 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 87.0 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 158.4 ต่อปี

 

 

เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนเมษายน 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว แม้ว่าจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่อปี ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 53.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมูลค่า 504.2 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 153.6 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตชิ้นส่วนปั๊มโลหะขึ้นรูปสินค้าสำหรับอุตสาหกรรม ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 99.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 18.4 ต่อปี และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 32.4 ต่อปี

 

 

ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า จะปรับตัวดีขึ้น

 

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

 

“ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนพฤษภาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ที่จะปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ”

 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2566 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนพฤษภาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ที่จะปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นต่อจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 82.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการเนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับในพื้นที่มีการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากมีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น อาทิ ยานยนต์และเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 87.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและอุตสาหกรรมเช่นกัน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 82.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราและอาหารทะเลแปรรูป ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 78.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่ายอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากคู่ค้าต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 78.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศเพิ่มขึ้น และในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 74.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานรัฐและเอกชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเกษตรแปรรูป ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 71.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการจ้างงานในอนาคตที่ดีขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการบางรายขยายกิจการของตน ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 61.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และในภาคบริการจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายมีความกังวลต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีความผันผวน