• SCB EIC ประเมินว่าการส่งออกสินค้าเดือน มี.ค. 2024 ในรูป %YOY มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 2023 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก ข้อมูลจากการแถลงข่าวของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มี.ค. 2024 จะอยู่ที่ราว 25,500 – 26,500 หดตัวประมาณ -5.4% ถึง -8.9%  *** ด้าน Krungthai COMPASS เผยส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจาก 10.0%YoY เมื่อเดือนก่อน ประเมินว่าการส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8% โดยการส่งออกไม่รวมทองคำเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 1.2% จากสินค้าสำคัญหลายรายการที่ยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังประเทศสำคัญมีความไม่นอนสูงโดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น
Home โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ลงทะเบียนรอบใหม่ 23 ก.ย.65
โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ลงทะเบียนรอบใหม่ 23 ก.ย.65

โครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ลงทะเบียนรอบใหม่ 23 ก.ย.65

โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 เปิดสิทธิคงเหลือให้ประชาชนลงทะเบียนรอบใหม่ ในวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565

 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า โครงการคนละครึ่ง (โครงการฯ) ระยะที่ 5 มีสิทธิคงเหลือประมาณ 3.09 ล้านสิทธิ จากประชาชนกลุ่มที่ได้รับสิทธิแล้ว แต่ไม่ได้มีการใช้จ่ายครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำสิทธิคงเหลือดังกล่าวมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรอบใหม่ โดยกระทรวงการคลังจะเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ รอบใหม่ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2565 จนถึงวันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังหรือ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00 น. – 22.00 น.

 

ประชาชนที่จะลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักและมีบัตรประจำตัวประชาชน ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และไม่เคยถูกระงับสิทธิ ถูกเรียกเงินคืน หรือฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการหรือโครงการอื่น ๆ ของรัฐ โดยประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนรอบใหม่นี้ได้ ทั้งประชาชนที่ยังไม่เคยได้รับสิทธิโครงการฯ และประชาชนที่เคยได้รับสิทธิโครงการฯ แต่ไม่ได้ใช้จ่ายครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนที่ลงทะเบียนและได้รับสิทธิจะได้รับวงเงินสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวด สปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการฯ เหมือนประชาชนที่ได้รับสิทธิทุกรายก่อนหน้านี้ ซึ่งจะสามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม 2565 จนถึงวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2565 ระหว่างเวลา 06.00 น. – 22.59 น.

 

สำหรับความคืบหน้าการใช้สิทธิมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ปี 2565 ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โฆษกกระทรวงการคลังเผยว่า จากข้อมูลสะสม ณ วันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 23.00 น. มีผู้ใช้สิทธิทุกโครงการรวม 36.85 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายสะสมทั้งสิ้น 28,186.08 ล้านบาท โดยสรุปผลการใช้จ่ายได้ ดังนี้

 

1. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 12.53 ล้านคน และมียอดใช้จ่าย 2,498.58 ล้านบาท

 

2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 มีผู้ใช้สิทธิจำนวน 923,782 คน และมียอดใช้จ่ายสะสม 184.02 ล้านบาท

 

3. โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายเดิมที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (ประชาชนรายเดิมฯ) จำนวน 23.24 ล้านคน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 25,331.94 ล้านบาท และมีผู้ใช้สิทธิที่เป็นประชาชนรายใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (ประชาชนรายใหม่ฯ) จำนวน 158,417 คน คิดเป็นยอดใช้จ่ายสะสม 171.54 ล้านบาท รวมมีผู้ใช้สิทธิทั้งหมดจำนวน 23.40 ล้านคน และมียอดใช้จ่ายรวม 25,503.48 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่ายจำนวน 12,942.23 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่ายจำนวน 12,561.25 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับยอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้า ได้แก่ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 10,260.81 ล้านบาท ร้านธงฟ้า 5,350.36 ล้านบาท ร้าน OTOP 1,233.52 ล้านบาท ร้านค้าทั่วไป 8,225.92 ล้านบาท ร้านบริการ 405.47 ล้านบาท และกิจการขนส่ง 27.40 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมแล้วจำนวน 9.55 แสนราย โดยเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ 2.12 หมื่นราย

 

สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 5 ยังคงสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่องจนกว่ากระทรวงการคลังจะปิดรับสมัคร โดยผู้ประกอบการร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 4 และมีแอปพลิเคชันถุงเงิน สามารถกดยืนยันสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 5 ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงินได้ทันที นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้ายังสามารถลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com หรือติดต่อลงทะเบียนที่สาขา/จุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือติดต่อกับเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครหรือเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยในพื้นที่เพื่อขอยืนยันการประกอบกิจการก่อนนำเอกสารไปยื่นที่สาขา/จุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการเปิดแอปพลิเคชันถุงเงินต่อไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ประสงค์จะขายอาหารและเครื่องดื่มผ่านผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์ม ยังสามารถเลือกเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มที่ได้รับอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ ระยะที่ 5 ได้หนึ่งราย ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน