• Krungthai COMPASS เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 0.84% คาดเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงระยะข้างหน้า ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยระยะข้างหน้ายังมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลง ปัจจัยหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งมีสัญญาณแผ่ว และทิศทางราคาพลังงานที่ลดลง โดยอุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง สะท้อนจากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ในเดือน ก.พ. 68 ที่ปรับลดลงทั้งหมวดเครื่องจักร ยานพาหนะ และก่อสร้าง ส่งผลให้ดัชนีโดยรวมหดตัว 7.7%YoY
Home ลดเสี่ยงภัยแล้ง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซีพีเอฟ 'ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร'
ลดเสี่ยงภัยแล้ง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซีพีเอฟ 'ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร'

ลดเสี่ยงภัยแล้ง ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ซีพีเอฟ 'ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร'

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้สภาพอากาศและสมดุลทางธรรมชาติแปรปรวน เกิดสถานการณ์ภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกร รวมถึงการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค และบริโภค การวางแผนและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้

“โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” คือหนึ่งในไอเดียดีๆ ของธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ ที่ช่วยเรื่องนี้ได้ โดยริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานของบริษัท ด้วยการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ให้กับเกษตรกรและชุมชนใช้ในการเพาะปลูก ทั้งปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส สวนผลไม้ ผักสวนครัว ฯลฯ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากจากภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยปรับปรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร เกิดจากการที่เกษตรกรรอบข้างฟาร์มและโรงงานของ ซีพีเอฟ เล็งเห็นว่า ภายในสถานประกอบการของบริษัท มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ด้วยการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จากหลัก 3Rs Reduce ลดการใช้น้ำดิบ, Reuse นำกลับมาใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่ ตามแนวคิด Waste to Value โดยการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนไว้ในบ่อเก็บน้ำ ส่วนน้ำที่ออกจากระบบ Biogas และผ่านการบำบัดอีกหลายขั้นตอนจนสะอาด และยังมีสารอาหารที่พืชต้องการ ที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” นำมาใช้ประโยชน์ ทั้งรดต้นไม้ สนามหญ้า และผักปลอดภัยจากสารพิษที่พนักงานปลูกรับประทานเองภายในฟาร์ม เมื่อเกษตรกรเห็นถึงความสำเร็จนี้จึงขอนำน้ำปุ๋ยมาใช้ได้ตลอดทั้งปี ไม่เฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีเกษตรกรขอรับน้ำปุ๋ย 40 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 640 ไร่

อินทัน สิงห์ทะ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักสวนครัว ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เล่าว่า ก่อนร่วมโครงการฯ พื้นที่แทบปลูกพืชแทบไม่ได้เลย เพราะเป็นดินทราย แต่พอใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มจอมทอง จ.เชียงใหม่ ดินดีขึ้น ปลูกพริกและมะเขือได้งาม โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเลย ข้าวโพดก็ฝักใหญ่ น้ำหนักดี ขอบคุณ ซีพีเอฟ ที่จัดโครงการดีๆแบบนี้ให้กับเกษตรกร ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เคยขาดน้ำ สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี

 


ความสำเร็จจากธุรกิจสุกร ถูกต่อยอดไปยังคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของ ซีพีเอฟ ที่นำปุ๋ยแบ่งปันให้เกษตรกรและชุมชนเช่นกัน โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา ฟาร์มไก่ไข่ 9 แห่ง จัดโครงการปันน้ำปุ๋ยและกากตะกอนสู่เกษตรกร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน ด้วยการส่งน้ำปุ๋ยไปกว่า 480,000 ลูกบาศก์เมตร แก่พื้นที่การเกษตรมากกว่า 3,500 ไร่ ทั้งสวนลำไย ปาล์ม ข้าว อ้อย ข้าวโพดหวาน หญ้าเนเปียร์ หญ้าเลี้ยงสัตว์ แตงโม และฟักทอง

ประพันธ์ มาณพ เกษตรกรผู้ใช้น้ำปุ๋ยในขั้นตอนการเตรียมดินปลูกข้าว เมื่อฝนตกจะปล่อยน้ำปุ๋ยลงไปผสมกัน เป็นการปรับสภาพดินก่อนหว่านข้าว เมื่อดินคุณภาพดี ข้าวก็ให้ผลผลิตดีขึ้นกว่า 50% จากที่เคยได้ข้าว 40 ถังต่อไร่ หลังใช้น้ำปุ๋ยในนาดินทรายข้าวให้ผลผลิตเพิ่มเป็น 70 ถังต่อไร่ ส่วนนาดินเหนียวผลผลิตเพิ่มเป็น 80-100 ถังต่อไร่ จากปี 2565 เริ่มต้นทดลองปลูก 5 ไร่ จึงเพิ่มเป็น 24 ไร่ ปีนี้วางแผนเพิ่มพื้นที่ปลูกอีก 18 ไร่ และมีเพื่อนเกษตรกรอีก 3 รายขอใช้น้ำปุ๋ยด้วย

นอกจากนี้ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ยังต่อยอดสู่การปันปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนรอบฟาร์ม โดยปี 2567 นำไปใช้ 4 ราย บนพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ รวมปริมาณเปลือกไข่ 86,200 กก. ใช้กับลำไย ข้าว หญ้าเลี้ยงสัตว์ อ้อย และทำฮอร์โมนพืชบำรุงราก-ดอก และยังขยายผลด้วยการนำกากไบโอแก๊ส 3,717,200 กก. แบ่งปันให้ชุมชนใช้กับอ้อย ข้าวโพด ปาล์ม บนพื้นที่ 1,020 ไร่

อารีรัตน์ พูนปาล ประธานศูนย์เรียนรู้พึ่งพาตนเองร่วมสมัย และประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เล่าว่าตนเองมีองค์ความรู้เรื่องฮอร์โมนไข่ และเห็นว่าบริษัทมีเปลือกไข่และเศษไข่แตกอยู่ จึงประสานขอนำมาใช้ หลังลองปรับสูตรเล็กน้อย พบว่าน้ำหมักชีวภาพจากไข่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีใช้ได้ดีกับผลไม้อินทรีย์ทุกชนิด รวมถึงพืชผักในกลุ่มทำสมุนไพรอินทรีย์ ผลผลิตดกขึ้น พืชผักอย่างเช่น กะหล่ำปลี ที่กรอบและหวานมากกว่าปกติ อายุเก็บรักษานานขึ้นด้วย

ซีพีเอฟ ภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกร ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำค่าปุ๋ยแก่เกษตรกร สะท้อนการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

คลิกชมคลิป >> https://youtu.be/62qfRu6WceE