สนับสนุนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในชุมชน
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจเพื่อสังคม ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา พร้อมส่งมอบหุ่นฝึก CPR จากยางพารา แก่หน่วยงานสาธารณสุขใน จ.สงขลา หนุนการฝึกอบรม เพิ่มทักษะช่วยชีวิตแก่บุคลากรและอาสาสมัครในพื้นที่
วันนี้ (23 พ.ค. 68) ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ – กยท. โดยนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง กยท. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ครั้งที่ 1/2568 โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในปีงบประมาณ 2568 ที่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมยางพาราไปใช้พัฒนาสังคมและชุมชน ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกร จำนวน 4 หลักสูตร มีเกษตรกรชาวสวนยางสนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 135 ราย การพัฒนาหุ่นฝึกฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) จากยางพารา เพื่อส่งเสริมทักษะการช่วยชีวิตในชุมชน ภายใต้โครงการ CSR มีเป้าหมายในการผลิตและมอบหุ่นฝึกฯ จำนวน 150 ตัว และความร่วมมือและสนับสนุนด้านอุตสาหกรรมยางพาราของหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา โดยมีการมอบชุดของเล่นจากยางพารา “พาราพาเพลิน” ให้แก่กลุ่มไม้ขีดไฟ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนงานเล่นอิสระสำหรับเด็กในประเทศไทย นอกจากนี้ กยท. ยังได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชอล์กจากยางพารา ภายใต้ชื่อโครงการ “เล่นอิสระสัญจร” ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ถือเป็นการร่วมมือกันภายใต้เครือข่ายนวัตกรรมยางพาราที่ช่วยพัฒนาสังคมและเยาวชนไปพร้อมกัน
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายสุขทัศน์ ได้เป็นประธานในพิธีมอบหุ่นฝึก CPR จากยางพารา จำนวน 10 ตัว ให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขใน จ.สงขลา ได้แก่ โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ อำเภอนาทวี ศูนย์บริการฉุกเฉินและบรรเทาสาธารณภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนาทวี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองเปียะ
นายสุขทัศน์ กล่าวว่า กยท. ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง เราหวังว่าหุ่นฝึก CPR จากยางพาราจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทักษะ เพิ่มความมั่นใจ และช่วยเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กู้ชีพ และอาสาสมัครในชุมชน เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที โดยการดำเนินงานในครั้งนี้จึงสะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกของ กยท. ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรยางพาราไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
สำหรับหุ่นฝึก CPR ดังกล่าวเป็นนวัตกรรมด้านยางพาราซึ่งพัฒนาโดย กยท. ร่วมกับ MTEC, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีการทดสอบสมรรถนะ (Mechanic Test) ให้ใกล้เคียงกับสรีระของคนไทยมากที่สุด เพื่อให้สามารถใช้งานจริงในการฝึกอบรมอย่างมีประสิทธิภาพ